กองทัพสหราชอาณาจักรอาจทบทวนแก้ไขนโยบายด้านเกณฑ์ทหาร เปิดโอกาสการเข้าถึงของกลุ่มคนต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้น ในนั้นรวมถึงบรรดาผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทบางอย่าง จากการเปิดเผยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แอนดรว์ มอร์ริสัน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส
มอร์ริสัน ซึ่งมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบด้านป้องกันพลเรือน ทหารผ่านศึกและครอบครัวกำลังพล อ้างว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยมอบบุคลากรมืออาชีพที่มีทักษะความสามารถแก่กองทัพ ท่ามกลางภาวะขาดแคลนที่เรื้อรังมานาน
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ส เมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) มอร์ริสัน อธิบายว่าภาวะขาดแคลนอยู่จุดที่สาหัสอย่างมาก พร้อมแนะนำว่ากองทัพสหราชอาณาจักรควรใช้แนวทางที่ยึดหยุ่นมากกว่าเดิมในการจ้างบุคลากรใหม่ๆ นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำว่าด้วยที่กองทัพกำลังให้ความสำคัญกับสงครามไซเบอร์เพิ่มขึ้น ดังนั้นพวกเขาควรเริ่มทอดแหให้กว้างกว่าเดิม "จ้างคนที่มีปัญหาทางระบบประสาทด้วย"
ด้วยที่บุคคลที่ป่วยเป็นโรคความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia) และความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว (Dyspraxia) ต่างเข้ามาเป็นกำลังพลในกองทัพแล้ว ดังนั้น มอร์ริสันจึงเห็นว่าเวลานี้ประตูควรเปิดกว้างสำหรับผู้สมัครที่มีอาการออทิสติก โรคแอสเพอร์เกอร์ (ความบกพร่องด้านพัฒนาการทางระบบประสาท) และโรคสมาธิสั้น ADHD ด้วย โดยเชื่อว่าคนเหล่านี้อาจมีทักษณะความสามารถและคุณสมบัติต่างๆ ที่คนอื่นไม่มี
นอกจากนี้ มอร์ริสันยังบ่งชี้ด้วยว่าอาจเปิดโอกาสให้บุคลากรสูงวัยรับใช้กองทัพนานขึ้น โดยระบุว่า "ด้วยที่มันไม่เป็นอุปสรรคในทางปรัชญา แล้วทำไมเราถึงไม่ขยายขอบเขตอายุเกษียณออกไป"
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผลการวิเคราะห์ของคณะกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล พบว่ากองทัพอังกฤษกำลังล้มเหลวในความพยายามดึงดูดเกณฑ์กำลังพลที่มีขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยี
นายพลทิม แรดฟอร์ด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดภาคพื้นยุโรปของนาโตเตือนเช่นกันเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า อังกฤษอาจสูญเสียความเป็นมหาอำนาจภายในกลุ่มพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ แห่งนี้ เนื่องจากกองทัพของพวกเขานั้นมีขนาดเล็กเกินไป
รองผู้บัญชาการรายนี้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ เน้นย้ำว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่อังกฤษวางเดิมพันไม่สามารถทดแทนกองกำลังทหารดั้งเดิมได้ทั้งหมด
ผลสำรวจความเห็นของบุคลากรด้านการทหารของอังกฤษ ที่จัดทำระหว่างเดือนกันยายน 2022 ถึงกุมภาพันธ์ 2023 ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว บ่งชี้ว่ามีทหารเพียง 42% ที่พอใจกับชีวิตรับใช้กองทัพ และประเด็นความคับข้องใจหลักๆ ของพวกเขา ได้แก่สภาพที่พักอาศัยที่เลวร้ายและค่าแรงระดับต่ำ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/ไฟแนนเชียลไทมส์)