xs
xsm
sm
md
lg

หมดกัน!! แฉทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ‘สิงคโปร์’ แข่งกันฉาว เสถียรภาพการเมือง-ธรรมาภิบาลป่นปี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์
เสถียรภาพการเมืองของสิงคโปร์สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ หลังมีการแฉกรณีอื้อฉาวหลายเรื่องต่อเนื่องกัน โดยไม่เพียงเกิดขึ้นกับทางฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น แต่ฝ่ายค้านก็มีเรื่องแย่ๆ เหมือนกัน เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบจิตใจชาวสิงคโปร์ที่ภูมิใจกับชื่อเสียงด้านธรรมาภิบาล และการเป็นประเทศซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พวกผู้นำในระดับสูงที่สุดในโลกมาโดยตลอด

เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา ตัน ชวนจิน ประธานรัฐสภา วัย 54 ปี และเฉิง ลี่ ฮุย สมาชิกรัฐสภา วัย 47 ปี ขอลาออกจากพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสิงคโปร์ จากกรณี “ความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม” ทั้งนี้แม้ฝ่ายหญิงคือ เฉิง ยังโสด แต่ ตัน แต่งงานแล้ว

อันที่จริง พวกนักการเมืองสิงคโปร์กำลังเผชิญคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมและความโปร่งใสตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อหน่วยงานต่อต้านการทุจริตจับกุม เอส อิสวารัน รัฐมนตรีคมนาคม และออง เบ็ง เซ็ง มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจโรงแรม ซึ่งทั้งคู่เคยมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มจัดการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในสิงคโปร์เมื่อปี 2008

โดยวันพุธที่แล้ว (12 ก.ค.) ชาวสิงคโปร์ได้รับรู้ว่า อิสวารันถูกขอให้พักงานระหว่างถูกสอบสวน

รองนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า จะดำเนินการสอบสวนคดีทุจริตนี้อย่างเต็มที่ สมบูรณ์ และอิสระ รวมทั้งจะไม่ปิดบังความผิดหรือปัญหาใดๆ

ทว่า ทางการเพิ่งออกมาประกาศข่าวการจับกุมหลังเกิดเหตุไปแล้ว 3 วัน แถมบุคคลทั้งคู่ยังไม่ถูกตั้งข้อหาและได้รับการประกันตัวออกไป

การจับกุมนี้เกิดขึ้นขณะที่มีการกล่าวหากันว่ารัฐมนตรีอาวุโสอีก 2 คนเช่าบ้านบังกะโลยุคอาณานิคมในย่านไฮเอนด์ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งแม้ผลการตรวจสอบระบุว่า เค ชานมูกัม และวิเวียน บาลากริสนัน ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ทว่า เหตุการณ์นี้จุดชนวนการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในสิงคโปร์

ล่าสุด เมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา ลีออน เปเรรา และนิโคล เซียห์ สมาชิกอาวุโส 2 คนของพรรคแรงงาน (ดับเบิลยูพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สุดของสิงคโปร์ ยื่นจดหมายลาออกหลังจากมีคลิปที่ทั้งคู่จับมือกันว่อนบนอินเทอร์เน็ตเมื่อต้นสัปดาห์ และทั้งคู่เพิ่งยอมรับว่า มีความสัมพันธ์ไม่เหมาะสม จากที่เคยปฏิเสธข่าวนี้มาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปลายปี 2020 และต้นปี 2021

ชอง จา ลัน นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า พรรครัฐบาลเสียหายมากกว่าฝ่ายค้านจากกรณีอื้อฉาวเหล่านี้ และประชาชนจะตัดสินเรื่องนี้ในการเลือกตั้งที่ตามวาระ จะต้องจัดขึ้นภายในปี 2025

ทศวรรษที่ผ่านมา พีเอพีซึ่งเป็นพรรคปกครองสิงคโปร์มาโดยตลอดนับแต่พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็เคยเผชิญเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้ง เช่น ในอดีตเคยมีประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาลงจากตำแหน่งจากความสัมพันธ์นอกสมรส ทว่า การที่เกิดเรื่องอื้อฉาวและการสอบสวนกรณีคอร์รัปชันใกล้ๆ กันครั้งนี้ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงกันมากขึ้น

พีเอพีภาคภูมิใจมายาวนานในการกำหนดมาตรฐานศีลธรรมสูงลิบสำหรับสมาชิกสภา ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาภายในพรรค

สัปดาห์นี้นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ออกมาปกป้องว่า การจัดการกับกรณีอื้อฉาวล่าสุดสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานของระบบ และย้ำว่า มาตรฐานสูงในด้านความเหมาะสมและความประพฤติส่วนตัวเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาชนไว้ใจและเคารพพีเอพี

ทว่า ผู้สังเกตการณ์อื่นๆ โต้แย้งว่า เรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการอวดอ้างด้านธรรมาภิบาลของสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของพรรคพีเอพี

เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์ในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า พีเอพีปฏิเสธแนวทางการปฏิบัติทั่วไปในด้านการเมือง ซึ่งกระทำกันอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น การเปิดเผยรายได้และทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการอาวุโส รวมทั้งของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นระดับใกล้ชิด

ไมเคิล บาร์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในออสเตรเลียที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองสิงคโปร์มาแล้วหลายเล่ม สำทับว่า แดนลอดช่องไม่มีกลไกที่แข็งแรงในการบังคับให้บุคคลทรงอำนาจต้องรับผิดสำหรับการกระทำของตัวเอง

ทั้งนี้ ถึงแม้สิงคโปร์ยังคงติดอันดับ 5 สำหรับประเทศที่มีปัญหาทุจริตน้อยที่สุดในโลก เมื่อดูจากดัชนีการรับรู้การทุจริตล่าสุดขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) รวมทั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์จ่ายเงินเดือนรัฐมนตรีในระดับตัวเลข 7 หลักเพื่อตัดไฟแต่ต้นลมป้องกันปัญหาการทุจริต

กรณีอื้อฉาวล่าสุดโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับพรรคพีเอพี ยังเป็นการกระพือคำถามที่ว่า นายกฯ ลี จะลงจากตำแหน่งเมื่อใด

ลี วัย 71 ปี ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2004 เปรยบ่อยๆ ว่า อยากเกษียณ และมีการวางตัวทายาทอำนาจไว้แล้วคือ ลอว์เรนซ์ หว่อง ที่เวลานี้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง

กระนั้น เมื่อวันจันทร์ ลีกลับบอกว่า ไม่มีแผนจัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วๆ นี้ และกำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือเดือนพฤศจิกายน 2025

(ที่มา : บีบีซี, เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น