กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ยื่นข้อเสนอมอบหลักประกันด้านความมั่นคงแก่ยูเครนในระยะยาวระหว่างการประชุมซัมมิตองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหลวงลิทัวเนียในสัปดาห์นี้ ขณะที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกอาการผิดหวังอย่างแรงที่แถลงการณ์ร่วมของนาโตยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาในการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
ข้อเสนอมอบความช่วยเหลือทางทหารในระยะยาวแก่ยูเครนโดยรัฐสมาชิกนาโตบางประเทศมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ เซเลนสกี ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” (absurd) ที่นาโตยังคงปฏิเสธที่จะเชิญ หรือแม้กระทั่งให้กรอบเวลาที่ชัดเจนในการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่
เซเลนสกี เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำแล้วให้นาโตรับยูเครนเข้ากลุ่มพันธมิตรทางทหาร หลังจากที่ต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับรัสเซียมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2022 จนบ้านเมืองเสียหาย ผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับหมื่น และมีชาวยูเครนที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศอีกหลายล้านคน
อย่างไรก็ตาม เคียฟดูเหมือนจะต้องร้องเพลง “รอ” ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด และมีเพียงรางวัลปลอบใจจากกลุ่ม G7 ที่ประกาศ “จะกำหนดแผนสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนไปตลอดหลายปีข้างหน้า จนกว่าสงครามกับรัสเซียจะสิ้นสุด รวมถึงตอบโต้การโจมตีใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ในทางปฏิบัตินี่จะเป็นเพียงกรอบความร่วมมือที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคี (bilateral agreement) ระหว่างยูเครนกับรัฐสมาชิก G7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี และอังกฤษ โดยเป็นการมอบความช่วยเหลือด้านการเงินและการทหารระยะยาวเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจยูเครนให้ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางภาวะสงคราม
เซเลนสกี ซึ่งจำต้องสะกดกลั้นความผิดหวังเอาไว้ ออกคำแถลงเมื่อวันพุธ (12) ว่า ผลลัพธ์จากการประชุมซัมมิตนาโตที่กรุงวิลนีอุส “ถือว่าดีในภาพรวม” และตนรู้สึกยินดีที่พันธมิตรหลายชาติให้คำมั่นสัญญามอบความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่ยูเครน
อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี ระบุว่า “การการันตีความมั่นคงที่ดีที่สุดสำหรับยูเครน ก็คือการรับเราเข้ากลุ่มนาโต” พร้อมย้ำว่าพันธสัญญาด้านความมั่นคงจาก G7 ไม่ใช่สิ่งที่จะมา “ทดแทน” การร่วมเข้านาโตได้ หากแต่เป็นเพียงการรับรองความมั่นคงในระหว่างที่เคียฟรอได้รับสมาชิกภาพเท่านั้น
ผู้นำยูเครนยังเรียกร้องขออาวุธที่ทันสมัยเพิ่มเติมจากชาติตะวันตก โดยทวีตข้อความว่า “ขออาวุธเพิ่มเติมให้กับนักรบของเรา ขอการปกป้องชีวิตให้กับชาวยูเครนทั้งมวล เราจะนำมาซึ่งเครื่องมือในการป้องกันที่สำคัญสำหรับยูเครน!"
ผู้นำรัฐสมาชิกนาโต 31 ประเทศประกาศในวันอังคาร (11) ว่า ยูเครนจะได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกก็ต่อเมื่อทุกประเทศเห็นพ้องกันว่าเคียฟมีคุณสมบัติ “ตรงตามเงื่อนไข” ซึ่งต่อมา เซเลนสกี ออกมาอธิบายว่า “ผมเข้าใจว่านั่นหมายถึงเมื่อดินแดนของเราปลอดศึกสงครามแล้ว”
เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ระบุว่า ตนเข้าใจหัวอกของ เซเลนสกี และย้ำถึงพัฒนาการที่ดีของยูเครนในการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณพรมแดนตะวันออกของนาโต และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 16
สโตลเตนเบิร์ก ยังระบุด้วยว่า เซเลนสกีเข้าร่วมประชุมกับผู้นำรัฐนาโต “ด้วยฐานะที่เท่าเทียม” และมีพันธมิตรหลายชาติที่รับปากจะให้ความช่วยเหลือเคียฟมากขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่นฝรั่งเศสซึ่งสัญญามอบขีปนาวุธพิสัยไกล และเนเธอร์แลนด์ซึ่งจะเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรฝึกฝนนักบินยูเครนให้สามารถใช้งานเครื่องบินขับไล่ของตะวันตกได้
“วันนี้เราพบกันในฐานะผู้นำที่เท่าเทียม และผมรอคอยวันที่เราจะได้พบกันในฐานะพันธมิตร” สโตลเตนเบิร์ก กล่าว
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว บอกกับ CNN ว่า สาเหตุประการสำคัญที่นาโตไม่อาจรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกได้ในตอนนี้ ก็เนื่องจากมาตรา 5 ในกฎบัตรนาโตที่ระบุไว้ว่า หากรัฐสมาชิกนาโตตกเป็นเหยื่อการโจมตีด้วยอาวุธจะถือว่าการโจมตีนั้นเป็นการโจมตีต่อสมาชิกทุกประเทศ นั่นเท่ากับว่าสมาชิกภาพของยูเครนจะดึงกลุ่มพันธมิตรทั้งหมดเข้าสู่สงครามโดยตรงกับรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี ซัลลิแวน ยืนยันว่า “G7 จะยืนหยัดเคียงข้างประธานาธิบดีเซเลนสกี และพร้อมที่จะมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครนในระยะยาว และแน่นอนว่าจะยาวนานไปจนกว่ายูเครนถูกรับเข้าเป็นสมาชิกนาโต”
แม้คำมั่นสัญญาของ G7 จะต่ำกว่าสิ่งที่ยูเครนคาดหมายว่าจะได้รับจากการประชุมนาโตครั้งนี้ แต่ก็ยังมากพอที่จะกระพือความโกรธเกรี้ยวจากฝ่ายรัสเซีย
“ด้วยการให้หลักประกันความมั่นคงแก่ยูเครน พวกเขา (G7) กำลังบั่นทอนความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซีย” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ให้สัมภาษณ์ พร้อมเตือนว่าความเคลื่อนไหวนี้ “จะทำให้ยุโรปเผชิญอันตรายมากขึ้นกว่าเดิมต่อไปอีกหลายปีนับจากนี้”
ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ออกมาขู่ว่า การที่นาโตประเคนอาวุธให้ยูเครนอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ทำให้โอกาสในการเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 3” ใกล้ความจริงเข้ามา
เลขาธิการนาโตย้ำว่า ยูเครนกำลังเข้าใกล้ความเป็นรัฐสมาชิกยิ่งกว่าที่เคยเป็น พร้อมทั้งปฏิเสธคำขู่ของรัสเซียซึ่งเตือนให้นาโตระวังผลลัพธ์จากการช่วยยูเครน
“ยูเครนมีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางของพวกเขาเอง” สโตลเตนเบิร์ก กล่าว “นี่ไม่ใช่สิทธิของมอสโกที่จะมาตัดสินใจแทน”
รัฐสมาชิกนาโตในยุโรปเหนือและตะวันออกซึ่งเผชิญภัยคุกคามโดยตรงจากรัสเซียต่างแสดงจุดยืนหนุนสมาชิกภาพของยูเครนมากเป็นพิเศษ ในขณะที่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และเยอรมนียังคงสงวนท่าทีไม่รีบร้อนบุ่มบ่ามในเรื่องนี้
กระนั้นก็ตาม ตะวันตกต้องการส่งสัญญาณให้รัสเซียได้รู้ว่า การยื้อสงครามต่อไปโดยหวังว่านานาชาติจะถอดใจและเลิกสนับสนุนยูเครนไปเองนั้นเป็นความคิดที่ผิดถนัด
ไบเดน เคยเสนอไอเดียมอบแพกเกจช่วยเหลือยูเครนในรูปแบบเดียวกับ “อิสราเอล” ซึ่งสหรัฐฯ ได้รับปากให้ความช่วยเหลือทางทหารปีละ 3,800 ล้านดอลลาร์เป็นระยะเวลา 10 ปี
นอกจากพันธสัญญาด้านความมั่นคงระยะยาวจาก G7 แล้ว ยูเครนยังได้รับ “ข่าวดี” อื่นๆ อีกไม่น้อยจากเวทีประชุมซัมมิตนาโตในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นาโตยกเลิกข้อกำหนดให้ยูเครนต้องทำตามแผนปฏิบัติการสำหรับเข้าเป็นสมาชิก (Membership Action Plan - MAP) ซึ่งหมายถึงการที่รัฐผู้สมัครจะต้องปฏิรูปกฎระเบียบและสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานนาโต ก่อนจะถูกรับเข้ากลุ่ม
การประชุมคณะมนตรีร่วมนาโต-ยูเครน (NATO-Ukraine Council) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ (12) ก็เป็นกลไกใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างเคียฟกับกลุ่มพันธมิตร 31 ประเทศ และนาโตได้ออกแถลงการณ์ยืนยันด้วยว่า จะสนับสนุนยูเครนต่อไป “ตราบนานเท่านาน”
ฝรั่งเศสประกาศจับมือกับอังกฤษในการส่งขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล (long-range cruise missile) ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายได้ถึง 250 กิโลเมตรให้ยูเครน ซึ่งจะช่วยให้กองกำลังเคียฟสามารถโจมตีฐานที่มั่นและคลังเสบียงของรัสเซียซึ่งอยู่ลึกไปจากพื้นที่แนวหน้าได้
แหล่งข่าวในฝรั่งเศสให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ขีปนาวุธเหล่านี้จะมาจากคลังอาวุธสำรองของกองทัพฝรั่งเศสเอง และจะส่งมอบให้ในจำนวนที่ “มากพอสมควร” ด้วย
ทางด้านอังกฤษประกาศจะส่งยานลำเลียงและยานเกราะโจมตีให้ยูเครนรวมกว่า 70 คัน กระสุนสำหรับใช้กับรถถัง “ชาลเลนเจอร์ 2” หลายพันนัด แพกเกจซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อีก 50 ล้านปอนด์ และยังเตรียมเสนอให้นาโตจัดทำโครงการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับทหารยูเครนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามด้วย
กลุ่มพันธมิตร 11 ประเทศจะเริ่มโครงการฝึกบินเครื่องบินขับไล่ F-16 ให้แก่นักบินยูเครนที่เดนมาร์กในเดือน ส.ค.นี้ และจะมีการเปิดศูนย์ฝึกขึ้นอีก 1 แห่งที่โรมาเนีย
แม้ขณะนี้จะยังไม่มีประเทศใดรับปากจัดส่งฝูงบิน F-16 ให้แก่ยูเครน แต่โครงการนี้คาดว่าจะช่วยให้นักบินยูเครนมีทักษะพร้อมสำหรับการใช้งาน F-16 ภายในต้นปีหน้า
ด้านเยอรมนีเตรียมอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่า 700 ล้านยูโร ซึ่งจะรวมถึงระบบขีปนาวุธแพทริออต 2 หน่วย ยานสายพานหุ้มเกราะ 40 คัน และรถถังต่อสู้กับเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลนอร์เวย์ประกาศจะเพิ่มงบสนับสนุนด้านการทหารให้แก่ยูเครนเพิ่มอีก 2,500 ล้านโครน รวมเป็น 10,000 ล้านโครนในปีนี้
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองก็คือ การที่สหรัฐฯ ประกาศจะส่งระเบิดพวง หรือระเบิดลูกปราย (cluster bombs) ให้แก่ยูเครน ซึ่งทำให้ เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกมาขู่ในวันอังคาร (11) ว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจบีบให้มอสโกต้องนำอาวุธต้องห้ามชนิดนี้ออกมาใช้ในสงครามเช่นกัน
กว่า 120 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงปี 2008 (Convention on Cluster Munitions) ซึ่งห้ามการผลิต ใช้งาน สะสม หรือเคลื่อนย้ายอาวุธประเภทนี้ เนื่องจากระเบิดพวงจะปลดปล่อยลูกระเบิดขนาดเล็กกระจายตัวออกเป็นวงกว้าง และลูกระเบิดเหล่านี้หากไม่ทำงานก็อาจฝังตัวอยู่ในดินได้นับสิบๆ ปีหลังจากที่สงครามจบไปแล้ว ซึ่งจะก่ออันตรายกับพลเรือนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอตช์ (Human Rights Watch) อ้างพบหลักฐานว่าทั้งมอสโกและเคียฟต่างนำระเบิดพวงมาใช้ในสงครามด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยอมรับว่า การส่งคลัสเตอร์บอมบ์ให้แก่ยูเครนถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่สหรัฐฯ เชื่อว่ายูเครนซึ่งกำลังขาดแคลนเครื่องกระสุนเพื่อใช้ในปฏิบัติการโจมตีโต้กลับรัสเซีย (counteroffensive) มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธประเภทนี้