บริษัท แลนด์สเปซ (LandSpace) ของจีนประสบความสำเร็จในการส่งจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงมีเทน-ออกซิเจนเหลว (methane-liquid oxygen rocket) ขึ้นสู่อวกาศได้เป็นครั้งแรกของโลกในวันนี้ (12 ก.ค.) สะท้อนให้เห็นถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีนที่รุดหน้าต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการขนส่งอวกาศในยุคอนาคต
สื่อทางการจีนรายงานว่า จรวด Zhuque-2 (ZQ-2) พุ่งทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน (Jiuquan Satellite Launch Center) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อเวลา 9.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น และเดินทางขึ้นสู่ห้วงอวกาศตามแผนที่กำหนดไว้ทุกประการ
การทดสอบปล่อยจรวดครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของแลนด์สเปซ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์รายแรกๆ ของจีน หลังจากการทดสอบจรวด Zhuque-2 ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วประสบความล้มเหลว
ความสำเร็จในการปล่อยจรวด Zhuque-2 ในวันนี้ (12) ยังทำให้บริษัทจีนก้าวแซงคู่แข่งรายใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ อย่างสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ และบลู ออริจิน (Blue Origin) ของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส ในสนามแข่งขันพัฒนายานขนส่งอวกาศที่ใช้เชื้อเพลิงมีเทน ซึ่งเชื่อกันว่าก่อมลพิษน้อยกว่า มีความปลอดภัยสูงกว่า และเหมาะกับจรวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้
แลนด์สเปซ ถือเป็นบริษัทเอกชนจีนรายที่ 2 ที่สามารถส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศด้วยเชื้อเพลิงเหลวได้สำเร็จ โดยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เป่ย์จิง เทียนปิง เทคโนโลยี (Beijing Tianbing Technology) ก็ทำการทดสอบจรวดด้วยเชื้อเพลิงเคโรซีน-ออกซิเจนเหลวได้สำเร็จเช่นกัน ถือเป็นความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่การพัฒนาจรวดที่สามารถเติมเชื้อเพลิงและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ธุรกิจขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้เอกชนเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เมื่อปี 2014 ซึ่งแลนด์สเปซ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทนำร่องที่มีทุนสนับสนุนมากที่สุด
ที่มา : รอยเตอร์