สงครามนิวเคลียร์อาจเริ่มขึ้นหากว่าสหรัฐฯทำตามความปรารถนาของโปแลนด์ สำหรับติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่นั่น จากเสียงเตือนของ ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เรียกร้องนาโต ให้ผนวกวอร์ซอ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์ของกลุ่ม
ข้อความที่โพสต์บนเทเลแกรมเมื่อวันเสาร์ (1 ก.ค.) ของเมดเวเดฟ เป็นการแสดงความคิดเห็นตอบคำถามหนึ่งจากสำนักข่าวทาสส์ นิวส์ สื่อมวลชนรัสเซีย
อดีตประธานาธิบดีรัสเซียให้คำจำกัดความผู้นำโปแลนด์ ว่าเป็น "เสื่อมทรามอย่างเห็นได้ชัด" ในขณะที่การปรากฏตัวของอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศแห่งนี้ นั่นหมายความว่าบรรดาผู้มีอำนาจในวอร์ซอ มีความตั้งใจที่จะใช้มัน
อย่างไรก็ตาม เมดเวเดฟ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ได้พูดเสียดแทงว่า ในกรณีหนึ่งในลักษณะนี้ ก็มักจะมีแง่บวกของมันด้วยเช่นกัน นั่นคือ "ดูดา มอราวีแยตสกี คาซินสกี และพวกขยะคนอื่นๆ จะได้หายสาบสูญไป" ดูเหมือนเป็นการอ้างถึง ประธานาธิบดีโปแลนด์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ และหัวหน้าพรรค Law and Justice พรรครัฐบาล
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในบรัสเซลส์ เมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) นายกรัฐมนตรีมอราวีแยตสกี กล่าวว่า "สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่ารัสเซียมีเจตนาประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในเบลารุส เรากำลังร้องขอให้นาโตอนุญาตให้เราเข้าร่วมในโครงการแบ่งปันนิวเคลียร์"
โครงการแบ่งปันนิวเคลียร์ของนาโตที่เปิดตัวในปี 2009 พบเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ B-61 ของสหรัฐฯ ถูกส่งเข้าประจำการในหลายจุดทั่วยุโรป
มอสโกและมินสก์ เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่าพวกเขาอยู่ระหว่างพูดคุยกันเกี่ยวกับการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ก่อนได้ข้อสรุปในข้อตกลงในเดือนมีนาคม
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีปูติน บอกกับ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ว่า การเตรียมการจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ด้วยหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายต่ำจำนวนหนึ่ง ได้ถูกส่งเข้าประจำการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเบลารุส อ้างว่ามีภัยคุกคามโดยตรงต่อประเทศของเขา ซึ่งเขาจำเป็นต้องตอบโต้ ทั้งนี้ ลูคาเชนโก บอกว่าเขาจะไม่ลังเลที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ในกรณีที่เบลารุสถูกรุกราน
ในส่วนของรัสเซีย ชี้แจงการตัดสินใจดังกล่าว อ้างว่าการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาในเบลารุส ไม่ต่างจากสิ่งที่สหรัฐฯ ดำเนินการมานานหลายทศวรรษ ในการคงบางส่วนในคลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขา ในประเทศทั้งหลายที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ เช่น ตุรกี เบลเยียม และอิตาลี
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)