xs
xsm
sm
md
lg

โลกอยู่ยาก! พบหลายชาติโดยเฉพาะจีนเพิ่มคลังแสงนิวเคลียร์ สะสมหัวรบท่ามกลางความตึงเครียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเอพี
คลังแสงนิวเคลียร์ของหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน เติบโตขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และมหาอำนาจปรมาณูอื่นๆ ยังคงเดินหน้าปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองให้มีความทันสมัย ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (12 มิ.ย.)

แดน สมิธ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) บอกกับเอเอฟพีว่า "จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยลดลงทั่วโลกต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ใกล้แล้วหรือบางทีอาจถึงจุดสิ้นสุดแล้ว"

อ้างอิงข้อมูลจาก SIPR พบว่าจำนวนหัวรบนิวเคลียร์โดยรวมในบรรดา 9 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ อันประกอบด้วย สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน รัสเซีย และสหรัฐฯ ลดลงสู่ 12,512 ลูกในช่วงต้นปี 2023 จากระดับ 12,710 ลูกของช่วงต้นปี 2022

อย่างไรก็ตาม ในนั้น 9,576 ลูก อยู่ในคลังแสงทางทหารสำหรับความเป็นไปได้ที่จะใช้งาน เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อน 86 ลูก

ข้อมูลของ SIPR ได้จำแนกคลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศต่างๆ ที่พร้อมสำหรับใช้งานกับคลังแสงโดยรวม ซึ่งอย่างหลังได้รวมถึงหัวรบนิวเคลียร์เก่าเก็บที่ถึงกำหนดปลดระวางแล้ว อย่างไรก็ตาม สมิธ เน้นว่าจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ดังกล่าวยังคงห่างไกลจากระดับกว่า 70,000 ลูก ที่พบเห็นในช่วงยุคทศวรรษ 1980

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดมาจากจีน ซึ่งได้ยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองจากระดับ 350 ลูก สู่ระดับ 410 ลูกในปีที่แล้ว

อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีหนือ ก็ยกระดับคลังแสงของตนเองเช่นกัน ส่วนรัสเซียขยายคลังแสงนิวเคลียร์เล็กน้อย จากระดับ 4,477 ลูก เป็น 4,489 ลูก ในขณะที่มหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นๆ ยังคงไว้ซึ่งขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขาเช่นกัน

รัสเซียและสหรัฐฯ รวมกันมีคลังแสงนิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดทั่วโลก

"ภาพใหญ่คือ เราเคยมีช่วงเวลา 30 ปีที่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ลดลงตามลำดับ แต่เราเวลานี้เรากำลังเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวกำลังสิ้นสุดลงแล้ว" สมิธกล่าว

พวกนักวิจัยของ SIPR เน้นด้วยว่าความพยายามทางการทูตในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และปลดอาวุธนิวเคลียร์ประสบความล้มเหลว ตามหลังปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐฯ ระงับ "การเจรจาสร้างเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ทวิภาคี" กับรัสเซีย หลังมอสโกรุกรานเคียฟ

ในเดือนกุมภาพันธ์ มอสโกแถลงว่ากำลังระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (New START) ซึ่งเป็นข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียเมื่อปี 2010 ฉบับปรับปรุงจากสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ปี 1991 (START I)

SIPR ระบุในถ้อยแถลงว่า มันเป็นสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่ ที่จำกัดกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งรัสเซีย และสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน สมิธ ชี้ว่าจำนวนคลังแสงนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีต้นตอจากสงครามในยูเครน เนื่องจากการพัฒนาหัวรบใหม่ๆ ต้องใช้เวลานาน และประเทศต่างๆ ที่เพิ่มคลังแสงนิวเคลียร์ก็ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมัน

จีน ลงทุนอย่างหนักในทุกภาคส่วนของกองทัพ ในขณะที่เศรษฐกิจและอิทธิพลของพวกเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ "สิ่งที่เรามองเห็นก็คือจีนกำลังยกระดับขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจโลก นี่คือความเป็นจริง" สมิธระบุ

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น