xs
xsm
sm
md
lg

วอลสตรีทเจอร์นัลเผย ‘ปักกิ่ง’ เตือน ‘บลิงเคน’ ‘ตัวเก็งผู้นำไต้หวันคนใหม่’ จะทำร้าวฉานหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) รองประธานาธิบดีไต้หวัน ไล่ ชิงเต๋อ หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า วิลเลียม ไล่ ขณะแถลงข่าวที่นครไทเป เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2023
สื่อดังของอเมริกาเผย จีนเตือนบลิงเคนระหว่างเยือนปักกิ่ง การกระทำของตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอาจทำให้สถานการณ์ระหว่างปักกิ่ง-ไทเปตึงเครียดยิ่งขึ้น

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานเมื่อวันอาทิตย์ (25 มิ.ย.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า เจ้าหน้าที่จีนเตือนแอนโทนี บลิงเคน ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้เดินทางเยือนจีนเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า การกระทำของรองประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวันที่เป็นตัวเก็งจะชนะการเลือกตั้งต้นปีหน้า อาจทำให้จีน-ไต้หวันร้าวฉานกันมากขึ้น

จากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัล เจ้าหน้าที่จีนถามบลิงเคน ว่า อเมริกามองพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของไต้หวันเป็นมิตรหรือไม่ และวอชิงตันมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการเลือกตั้งในไทเปที่จะจัดขึ้นเดือนมกราคมปีหน้าหรือไม่

รายงานระบุว่า บลิงเคนยืนยันว่า อเมริกา “เป็นกลาง” ในการเลือกตั้งดังกล่าว และไม่สนับสนุนบุคคลภายนอกเข้าไปก่อกวนกระบวนการเลือกตั้งของไต้หวัน

ปักกิ่งที่ถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน กล่าวหามาตลอดว่า อเมริกาให้ท้ายนักการเมือง “ที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน” ในไทเป

ขณะเดียวกัน แม้อเมริกาไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่นักการเมืองอเมริกันมีการนัดหมายพบปะกับเจ้าหน้าที่ไทเปบ่อยครั้ง ซึ่งปักกิ่งมองว่า การกระทำดังกล่าว รวมถึงการที่อเมริกาขายอาวุธให้ไต้หวัน เป็นการละเมิดหลักการ “จีนเดียว”

เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ปักกิ่งจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่รอบเกาะไต้หวันภายหลังการเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น และอีกครั้งในเดือนมีนาคมปีนี้หลังจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันเดินทางไปอเมริกา และได้พบกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนปัจจุบัน

ที่ผ่านมา ไล่ ซึ่งมีคะแนนนำในผลสำรวจความคิดเห็นสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันปี 2024 ในอดีตเคยประกาศตนเป็น “คนทำงานการเมืองเน้นผลทางปฏิบัติเพื่อเอกราชของไต้หวัน” แต่ต่อมาเขาชี้แจงว่า ไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงสถานะการเมืองปัจจุบันของไต้หวันแต่อย่างใด

จากข้อมูลของโฟกัส ไต้หวัน ไล่กล่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า เขาต้องการย้ำว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราชอีก

ทั้งนี้ บลิงเคนเดินทางเยือนจีนเมื่อวันที่ 18-19 เดือนนี้ และทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นแง่บวกอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับผลการเจรจา กระนั้น ปักกิ่งประณามอย่างรุนแรงกรณีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียก สี ว่า “เผด็จการ” หลังบลิงเคนออกจากปักกิ่งไม่นาน

(ที่มา : อาร์ที)


กำลังโหลดความคิดเห็น