มหาเศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ ฮามิช ฮาร์ดิง เร่าร้อนอย่างยิ่งที่จะได้ดำลงยังพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยกันกับ “ไททัน” เพื่อสำรวจซากเรืออับปางไททานิก แต่ก็หวั่นในใจถึงความปลอดภัยของยานดำน้ำลึกขนาด 6.7 เมตรลำนี้ สกายนิวส์ได้ข้อมูลมาจากวิคเตอร์ เวสโคโว สหายสนิทนายหนึ่งของมหาเศรษฐี และสหายผู้นี้ก็ได้เตือนเขาถึงอันตรายไว้ทั้งหมดแล้ว กระนั้นก็ตาม ในที่สุดมหาเศรษฐีฮาร์ดิงตัดสินใจว่า ยานดำน้ำไททัน “ปลอดภัยพอใช้ได้” และจึงเดินหน้าด้วยสปิริตเข้มแข็งแห่งนักสำรวจ ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่กำมือของมัจจุราชอย่างง่ายดาย
มิใช่แต่เพียงมหาเศรษฐีฮาร์ดิงเท่านั้น กูรูจากฝรั่งเศสนาม พอล-อองรี นาร์เจอเลต นักสมุทรศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญข้อมูลเรือไททานิก ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่หวาดหวั่นกังวลในยานดำน้ำลึกของบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์
นักสำรวจมหาสมุทรชั้นแนวหน้าของโลกอย่างวิคเตอร์ เวสโคโว เล่าว่า ทั้งสองท่านมาหาเขา มาขอความเห็นจากเขาว่าควรไปกับยานดำน้ำไททันหรือไม่ ซึ่งเขาให้คำตอบว่า
“ถ้าเป็นผม ผมจะไม่ขึ้นเรือดำน้ำนั้นแน่นอน”
นอกจากนั้น หนุ่มใหญ่ชาวอเมริกันนักสำรวจภูเขาและมหาสมุทร ให้สัมภาษณ์แก่สกายนิวส์ด้วยว่า ทุกคนในประชาคมนักสำรวจใต้ทะเลต่างมองตรงกันว่า มีความเสี่ยงที่เกิดจากการออกแบบยานดำน้ำไททัน
“พวกเราล้วนมีความกังวลใจ และโชคร้ายเหลือเกินที่สิ่งซึ่งเรากังวลใจได้กลายเป็นจริงขึ้นมา” วิคเตอร์ เวสโคโว กล่าวกับสกายนิวส์อย่างนั้น
ยานดำน้ำลึกไททันถูกแรงกดดันของมวลน้ำมหาสมุทรที่บีบอัดด้วยน้ำหนักมหาศาล ซึ่งกลายเป็นแรงระเบิดเข้าไปฉีกขยี้ลำเรือ กลายเป็นหลายส่วน โดยที่ว่าส่วนของห้องโดยสารยังสูญหาย ส่งผลให้บุคคลทั้ง 5 รายในห้องโดยสารถูกประกาศว่าเสียชีวิต ได้แก่
ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีและนักสำรวจชาวอังกฤษ วัย 58 ปี
ชาห์ซาดา ดาวูด มหาเศรษฐีนักธุรกิจอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน วัย 48 ปี
ซูเลมาน ดาวูด บุตรชายวัย 19 ปี ของชาห์ซาดา ดาวูด
พอล-อองรี นาร์เจอเลต นักสมุทรศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไทนานิก ชาวฝรั่งเศส วัย 77 ปี ที่ลงไปสำรวจซากเรือมาแล้วหลายสิบครั้ง
สตอคตัน รัช ซีอีโอบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชัน ผู้ก่อตั้งธุรกิจและพัฒนายานดำน้ำลึกไททัน
ยานดำน้ำไททันขาดการติดต่อกับยานแม่ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว (11) หลังออกเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมง และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปรากฏการณ์มวลน้ำมหาสมุทรบีบระเบิดเข้าไปทำลายยานดำน้ำไททัน น่าจะอุบัติขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง โดยวิเคราะห์จากสัญญาณชี้บ่งความผิดปกติที่ตรวจจับได้โดยระบบตรวจจับเสียงใต้น้ำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา กระนั้นก็ตาม ปฏิบัติการค้นหายังเดินหน้าต่อ เอพีรายงาน
กองกำลังพิทักษ์ชายฝั่งแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22) ว่าบุคคลในยานดำน้ำไททันเสียชีวิตแล้วจากการระเบิดอันร้ายแรงถึงชีวิตที่อัดเข้าไปทำลายยาน ในเวลาเดียวกัน ยังมีปฏิบัติการค้นหาหลักฐานชี้บ่งรูปการว่าเกิดอะไรขึ้นในบริเวณใกล้จุดของซากอับปางไททานิก ณ ความลึก 3,800 เมตรใต้ผิวน้ำ
ที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เตือนแล้วว่าภายใต้แรงกดดันมหาศาล ณ ความลึกเกือบ 2 กิโลเมตรนั้น ลำเรือของไททันอาจถูกบีบระเบิดเข้าไปทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้ทุกคนในยานดำน้ำนี้เสียชีวิตอย่างทันที
“ผมไม่คิดว่าคนทั่วไปจะเข้าใจถึงพลังงานที่เป็นปัจจัยของกระบวนการระเบิดทะลวงเข้าไปในลำเรือ” บ็อบ บัลลาร์ด หนึ่งในคณะสำรวจที่พบซากไททานิกเมื่อปี 1985 กล่าวกับเอบีซี พร้อมบอกว่า
“มันเกิดขึ้นฉับพลันและฉีกทุกสิ่งย่อยยับ”
ขณะที่บริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชั่น เจ้าของยานดำน้ำไททัน อวดว่ายานดำน้ำไททันมีห้องโดยสารรูปทรงกระบอกซึ่งให้พื้นที่กว้างขวางมาก และทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ นั้น พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าโอเชียนเกตฉีกตัวออกจากเคบินรูปทรงกลมที่สร้างจากไทเทเนียม ซึ่งยานดำน้ำลึกส่วนใหญ่ใช้กันอยู่
แต่ประเด็นมีอยู่ว่า ยานดำน้ำทรงกลมเป็น “รูปทรงสมบูรณ์แบบ” เพราะแรงกดดันจากมวลน้ำจะกระทำต่อทุกจุดอย่างเท่ากัน ดร.คริส โรมัน แห่งสถาบันบัณฑิตศึกษาด้านสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ บอกไว้กับเอพี
ดังนั้น ยานดำน้ำไททัน รูปทรงกระบอกความยาว 6.7 เมตร น้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม ซึ่งมีพื้นที่ว่างสำหรับห้องโดยสารมากขึ้น อีกทั้งยังแออัดด้วยผู้โดยสารถึง 5 ที่นั่ง จึงทำให้ต้องรับแรงกดดันจากภายนอกมหาศาลยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แรงกดดันของมวลน้ำในบริเวณที่ตั้งของซากอับปางไททานิก ณ ระดับความลึกจากผิวน้ำเกือบ 4 กิโลเมตร จึงมหาศาลถึงระดับที่ว่า พื้นผิวของยานแต่ละ 1 ตารางนิ้ว ต้องเผชิญกับแรงกดดันประมาณ 2,722 กิโลกรัมทีเดียว
ดร.อรุณ บัณศีล ศาสตราจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์น ยูนิเวอร์ซิตี เปรียบเทียบแรงกดดันอันมหาศาลดังกล่าวด้วยกำลังของปลาวาฬที่กัดไปบนร่างกายมนุษย์
พร้อมนี้ ดร.บัณศีล อธิบายบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยด้วยว่า การระเบิดเข้าไปฉีกยานดำน้ำไททันอยู่ในระดับรุนแรงอย่างยิ่งยวด ขณะที่ลำเรือแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยแรงกดดันมหาศาลจากด้านนอกนั้น พลังงานที่พุ่งเข้ากระแทกผู้ที่อยู่ในลำเรือทั้ง 5 ราย จึงมีปริมาณมโหฬาร ดังนั้นทุกคนจึงเสียชีวิตโดยทันที โดยไม่ทันได้รู้สึกถึงความเจ็บปวด และกระทั่งว่าไม่ทันที่จะตระหนักว่ามีอะไรฟาดฟันเข้าใส่ร่างกาย
ในเรื่องความฉับไวที่ร่างกายของบุคคลทั้ง 5 คนถูกทำลาย มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ยานดำน้ำไททันมีลำเรือที่ฝังตัวเซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งทนทานต่อแรงกดดันสูงบริเวณใกล้พื้นมหาสมุทร แต่เมื่อมีความผิดปกติใดๆ ปรากฏบนลำเรือ ผลที่ตามมาคือการระเบิดทะลวงเข้าถึงห้องโดยสารได้แทบจะทันที ภายใน 0.04 วินาที หรือก็คือ 40 มิลลิวินาทีกันเลยทีเดียว รองศาสตราจารย์เอริก ฟูซิล ผอ.ศูนย์ต่อเรือแห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลดในออสเตรเลีย ให้ข้อมูลแก่เอพี
“เป็นไปได้ว่าผู้โดยสารอาจจะไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น” รศ.ฟูซิล กล่าว
สาเหตุหนึ่งที่สามารถสร้างความผิดปกติต่อลำเรือถูกอธิบายว่า ไททันออกปฏิบัติการดำดิ่งสู่ท้องมหาสมุทรแอตแลนติกมาแล้ว 20 กว่าเที่ยว ปัจจัยนี้เป็นแรงกดดันที่กระทบต่อลำเรือ แจสเปอร์ แกรม-โจนส์ รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมกลศาสตร์และมหาสมุทร ที่มหาวิทยาลัยพลิเมาท์ สหราชอาณาจักร กล่าววิเคราะห์ไว้กับเอพี พร้อมคำอธิบายว่า
“แรงกดดันที่กระทบต่อลำเรือสามารถทำให้วัสดุคาร์บอน-ไฟเบอร์ที่นำมาสร้างเป็นลำเรือ เกิดการแยกตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน”
ปัญหาประเด็นนี้หมายถึงความแข็งแกร่งของลำเรือไททันซึ่งอาจจะยังไว้วางใจไม่ได้นั่นเอง ปมตรงตี้โยงใยอยู่กับเรื่องที่ว่าวัสดุคาร์บอน-ไฟเบอร์สามารถนำมาใช้สร้างยานดำน้ำลึก เพื่อทดแทนวัสดุหลักจำพวกแผ่นเหล็กกล้าได้อย่างแท้จริงหรือไม่
ยานดำน้ำไททันเคยลั่นเสียงกร๊อบแกร๊บเมื่อคราวที่นำผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวดำลงท้องทะเลทดสอบ ปี 2019
คาร์ล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญยานดำน้ำลึกเชิงท่องเที่ยว เล่าออกอากาศในรายการข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา (23) ว่าเคยรับคำเชิญของ สตอคตัน รัช ซีอีโอแห่งโอเชียนเกต ไปทดสอบยานดำน้ำลึกไททัน เมื่อเมษายน 2019 ในน่านน้ำบาฮามา
หนุ่มใหญ่อเมริกันนามว่า สแตนลีย์ ซึ่งดำเนินธุรกิจยานดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวที่ประเทศฮอนดูรัส เล่าว่า ซีอีโอ รัช แจ้งล่วงหน้าว่าไททันจะมีเสียงลั่นกร๊อบแกร๊บอยู่บ้าง และเมื่อเข้าไปทดสอบจริงในทริปความลึกประมาณ 3,600 เมตร สแตนลีย์เล่าว่า ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บเป็นระยะตลอดทริป แต่ สตอคตัน รัช ซึ่งทำหน้าที่กัปตันสามารถคุมสภาพการณ์ทุกอย่างได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อ สแตนลีย์ ทบทวนดูแล้ว ก็ตระหนักว่ายานดำน้ำลึกไททันน่าจะอันตรายเกินไป เพราะเสียงที่ได้ยินขณะอยู่ในไททันกลางมหาสมุทรนั้น “ฟังเหมือนมีความบกพร่องอยู่ในบางพื้นที่ของลำเรือ ซึ่งเป็นผลจากการได้รับแรงกดดันอันมหาศาล และบริเวณดังกล่าวกำลังถูกเบียดบดให้เสียหาย”
ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญสแตนลีย์จึงเขียนอีเมลไปหารัชเพื่อบอกถึงความกังวลใจ และเตือนให้รัชใช้เวลาพัฒนายานไททันให้มากขึ้น เพื่อให้แน่นอนว่ายานดำน้ำนี้ปลอดภัยจริง
อีเมลนี้ สแตนลีย์ทำการฟอร์เวิร์ดไปให้สื่อค่ายยักษ์คือ นิวยอร์กไทมส์ โดยอีเมลเตือนให้ซีอีโอของโอเชียนเกตตระหนักว่า เสียงกร๊อบแกร๊บดังชัดเจนเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาลำเรือบางจุดกำลังจะพัง
เหตุการณ์หายนะที่ยานดำน้ำแหลกสลายกลางทะเล เคยอุบัติขึ้นในปี 1963 เมื่อเรือดำน้ำ USS Thresher ของทางการสหรัฐฯ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ถูกแรงกดดันจากมวลน้ำบีบจนลำเรือระเบิด ขณะทดสอบศักยภาพในการดำดิ่งเกินกว่าโปรแกรม โดยก่อนหน้าการทดสอบชะตาขาดดังกล่าว เรือดำน้ำลำนี้ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง ในโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำเทรเชอร์แตกย่อยยับ มีทหารและพลเรือนในลำเรือเสียชีวิต 129 ราย นอกชายฝั่งคาบสมุทรเคปค้อดของสหรัฐฯ
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : สกายนิวส์ เอพี ซีเอ็นเอ็น นอร์ทอีสเทิร์น กลอเบิล นิวส์)