อเมริกาแถลงวันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) ว่าจัดส่งเรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่งแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเมื่อวันอังคาร (20) หลัง “รัฐมนตรีต่างประเทศบลิงเคน” เสร็จสิ้นการเยือนปักกิ่ง และวอชิงตันแสดงความคาดหวังเห็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นในวันพุธ (21) สภาล่างสหรัฐฯ ยังไฟเขียวแผนการริเริ่มทางการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 กับไทเป
กองเรือที่ 7 แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพฤหัสฯ (22) ว่า เรือตรวจการณ์ประเภทคัตเตอร์ของหน่วยยามฝั่ง ที่มีชื่อว่า “สแตรทตัน” ได้แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเมื่อวันอังคาร เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และสำทับว่า เครื่องบินและเรือของกองทัพอเมริกันสามารถปฏิบัติการในทุกที่ที่กฎหมายสากลอนุญาต
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า เรือสแตรทตันของอเมริกาแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันโดยมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ และกองทัพไต้หวันติดตามสถานการณ์ “ปกติ” นี้อย่างใกล้ชิด
ทว่า โฆษกหน่วยยามฝั่งจีนระบุว่า ภารกิจของเรือสแตรทตันคือ มุ่ง “โฆษณาชวนเชื่อ” และฝ่ายตนส่งเรือประกบเรือลำนี้ตลอดเส้นทาง และย้ำว่า จีนจะปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง รวมถึงสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศอย่างเด็ดขาด
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เรือสแตรทตันออกจากช่องแคบไต้หวันในช่วงเช้ามืดวันพฤหัสฯ
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพุธ (21) ไต้หวันระบุว่า หมู่เรือรบของจีนที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน “ซานตง” แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันโดยมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ และกองทัพเรือไต้หวันติดตามความเคลื่อนไหวภายในเขตแดนอย่างใกล้ชิด และจะรับมืออย่างเหมาะสม
การแล่นเข้าช่องแคบไต้หวันของเรือสแตรทตัน เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สิ้นสุดการเยือนปักกิ่งที่สองประเทศเห็นพ้องสร้างเสถียรภาพความสัมพันธ์เพื่อป้องกันการเป็นปฏิปักษ์ลุกลามเป็นความขัดแย้ง ทว่า ไม่มีการบรรลุข้อตกลงสำคัญใดๆ
ทำเนียบขาวแถลงในวันพุธว่า ยังคงคาดหวังเต็มที่ว่า ความคืบหน้าจากการเยือนของ บลิงเคน จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างจีนกับอเมริกา แม้ว่าระหว่างงานระดมทุนเพื่อใช้หาเสียงทางการเมืองในแคลิฟอร์เนียเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ “เมาธ์แตก” เรียกประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่า “เผด็จการ” โดยที่เหตุการณ์นี้ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก และระบุว่าเป็น “การยั่วยุทางการเมืองอย่างเปิดเผย”
ทว่า ทำเนียบขาวพยายามอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ไบเดนกล่าวถึงจีนอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งมุมมองที่แตกต่างระหว่างสองประเทศ และสำทับว่า ไบเดนเชื่อว่า แนวทางการทูต ซึ่งรวมถึงการเยือนของบลิงเคนเป็นวิธีจัดการสถานการณ์ตึงเครียดอย่างมีความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่วอชิงตันสร้างความขุ่นเคืองใจให้ปักกิ่งในช่วงนี้ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โดยในวันพุธสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติผ่านแผนการริเริ่มทางการค้าอเมริกา-ไต้หวันแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งอำนวยความสะดวกด้านการตรวจตราทางศุลกากร ปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับกฎระเบียบ และกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต และได้ส่งต่อข้อตกลงนี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาซึ่งคาดว่า จะให้การรับรองเช่นเดียวกัน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)