xs
xsm
sm
md
lg

รวดเร็วทันใจ! ฮอนดูรัสเปิดสถานทูตในจีน ไม่กี่เดือนหลังตัดสัมพันธ์ไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฮอนดูรัสเปิดสถานทูตในไต้หวันเป็นในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งรัฐจีน ไม่กี่เดือนหลังจากชาติในอเมริกากลางแห่งนี้ตัดความสัมพันธ์ไต้หวัน แล้วหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง

ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และเอ็นริเก เรนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮอนดูรัส เข้าร่วมในพิธีเปิดสถานทูตเมื่อตอนเช้าวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) ตามรายงานของสำนักข่าวซีซีทีวี สื่อมวลชนแห่งรัฐของจีน พร้อมระบุฮอนดูรัสยังจำเป็นต้องหาข้อสรุปเกี่ยวกับที่ตั้งถาวรของสถานทูต และจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ด้วย

กัง สัญญาว่า จีนจะสถาปนา "ความร่วมมือฉันมิตร" รูปแบบใหม่กับฮอนดูรัส ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศที่มีความแตกต่างทั้งขนาดและระบบ จากถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีน

สัญลักษณ์แห่งการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติในครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างที่ประธานาธิบดี ซิโอมารา คาสโตร เดินทางเยือนจีน เป็นเวลา 6 วัน

ฮอนดูรัส สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนในเดือนมีนาคม กลายเป็นประเทศล่าสุดในหลายๆ ชาติที่ตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์กับไต้หวัน แล้วหันไปยืนเคียงข้างปักกิ่ง ในขณะที่จีนมองไต้หวัน ดินแดนปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกไปของพวกเขา และต้องยึดคืนผ่านการใช้กำลังถ้ามีความจำเป็น ทั้งนี้ ปักกิ่งห้ามพันธมิตรทางการทูตของพวกเขามีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการใดๆ กับไทเป

คาสโตร เดินทางถึงเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ถือเป็นการเดินทางเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพัน์ ระหว่างพักอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เธอได้ไปเยี่ยมเยือนสำนักงานใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) สถาบันการเงินที่จัดตั้งโดยกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ในขณะที่ ฮอนดูรัส เองได้ร้องขอเข้าร่วมในธนาคารแห่งนี้ด้วย ทำเนียบประธานาธิบดีของคาสโตร ระบุผ่านทวิตเตอร์ในวันเสาร์ (10 มิ.ย.)

ประธานาธิบดีรายนี้ยังเดินทางเยือนศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนเดินทางไปกรุงปักกิ่งในช่วงคืนวันเสาร์ (10 มิ.ย.)

การสถาปนาความสัมพันธ์ในเดือนมีนาคม ถือเป็นชัยชนะทางการทูตสำหรับจีน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงการระยกระดับกล่าวอ้างเหนือไต้หวันของจีน ขณะเดียวกัน มันยังเป็นส่งสัญญาณว่าอิทธิพลของปักกิ่งในละตินอเมริกากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

จีนและไต้หวัน ติดหล่มในการต่อสู้แย่งชิงการรับรองทางการทูต นับตั้งแต่แยกจากกันท่ามกลางสงครามกลางเมืองในปี 1949 โดยปักกิ่งทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ชาติต่างๆ รับรอง "นโยบายจีนเดียว" ของพวกเขา

(ที่มา : รอยเตอร์/อัลจาซีราห์)


กำลังโหลดความคิดเห็น