พรรคก้าวไทย และพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านคว้าชัยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือบรรดาพรรคอนุรักษนิยมทั้งหลายที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ในศึกเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) เวลานี้คาดหมายว่าโฟกัสจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมุ่งหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาล และต่อไปนี้คือปฏิกิริยาตอบสนองของเหล่านักวิเคราะห์ทางการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
เคน เมธิส โลหเตปานนท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน "นับตั้งแต่ปี 2001 เพื่อไทยคว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดในทุกการเลือกตั้งแบบสบายๆ แต่หลังจากผ่านไป 2 ทศวรรษ แน่นอนว่าการเมืองไทยพลักผัน ยุคของเพื่อไทยครอบงำการเมืองการเลือกตั้งจบลงแล้ว" เขากล่าวกับรอยเตอร์
ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า "ก้าวไกลยังไม่ได้รับหลักประกันใดๆ พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) ทึกทักว่าพวกเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย แต่ยังมีสมการที่ว่าพรรคภูมิใจไทยอาจรวบรวมเสียงอีกฝ่าย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมอีกรูปแบบหนึ่ง"
รอยเตอร์อ้างความคิดเห็นของ ซาชารี อาบูซา ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสงครามแห่งชาติ ระบุว่า "เจตนารมณ์ของประชาชนดูเหมือนจะถูกขัดขวางอีกครั้ง ผมไม่คิดว่าวุฒิสภาจะเคารพปณิธานของประชาชน พวกเขาถูกจัดตั้งและแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อสิ่งเดียว นั่นคือให้พวกภักดี-อนุรักษนิยมคงอำนาจทางการเมือง" เขากล่าว "ผมมองไม่เห็นเส้นทางเดินหน้าสำหรับพันธมิตรฝักใฝ่ประชาธิปไตย 376 ที่นั่งที่จำเป็นสำหรับเอาชนะเสียงโหวตของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี"
ทามารา ลูส์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า "นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาสที่สำคัญสำหรับพรรคต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารและนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ที่จะยอมรับอย่างสง่างามว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนไทยปรารถนาการเปลี่ยนไปในสถานภาพปัจจุบัน"
ส่วน NATTABHORN BUAMAHAKUL จากเอเชีย กรุ๊ป แอดไวเซอร์ส (บริษัทที่ปรึกษา) ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า "การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว บ้านใหญ่ทางการเมืองและตระกูลมีความหมายน้อยลงในหลายๆ เขต มันเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบธนกิจการเมือง (Money Politics) ในไทย"
(ที่มา : รอยเตอร์)