xs
xsm
sm
md
lg

ร้าวไหม! นักการเมืองเยอรมนี-US รุมเฉ่ง ปธน.ฝรั่งเศส หลังแนะยุโรปต้องไม่เป็นบริวารสหรัฐฯ และจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ก่อเสียงโวยวายจากนักการเมืองเยอรมนีและสหรัฐฯ หลังบอกว่ายุโรปไม่ได้ผลประโยชน์อะไรในการเร่งวิกฤตไต้หวัน และควรเป็น "ขั้วที่ 3" เป็นอิสระจากทั้งอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบขาวแสดงปฏิกิริยาสงบนิ่งมากกว่า โดยระบุยังคงเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปารีส แม้ผู้นำแดนน้ำหอมปลีกตัวเองออกห่างจากสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน

บรรดานักการเมืองจาก 2 ฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ทยอยกันออกมาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ว่าพยายามเอาอกเอาใจจีนมากเกินไป ในขณะที่มันมีขึ้นระหว่างที่กองทัพปักกิ่งกำลังดำเนินการซ้อมรบปิดล้อมเกาะไต้หวัน

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Les Echos ของฝรั่งเศส และเว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ Politico ระหว่างการเดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 3 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาครงกล่าวว่า "มันจะเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่สุดหากคิดว่าเรายุโรปต้องกลายเป็นบริวารผู้เดินตามในประเด็นนี้ และต้องปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของอเมริกา หรือให้เข้ากับปฏิกิริยาตอบโต้อันเลยเถิดของจีน"

จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตน และไม่เคยตัดความเป็นไปได้ของการใช้กำลังเพื่อเกาะแห่งนี้กลับไปอยู่ภายใต้การบริหารปกครองของตน ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อคำกล่าวอ้างของปักกิ่ง

นอร์เบิร์ต เริทเกิน ส.ส.เยอรมนี คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี (Bundestag) ทวีตข้อความว่า "มาครง ได้จัดการเปลี่ยนการเดินทางเยือนจีนของเขา กลายเป็นการก่อรัฐประหารด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อ สี และเป็นหายนะด้านนโยบายต่างประเทศสำหรับยุโรป" พร้อมบอกว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศส เริ่มโดดเดี่ยวตัวเองออกจากยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ

ในวิดีโอที่โพสต์บนทวิตเตอร์ มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ นำไปเปรียบเทียบกับความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งทาง มาครง หวังเกณฑ์ความช่วยเหลือจากจีน "ถ้ายุโรปไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน เมื่อนั้น บางทีเราอาจไม่ควรเลือกข้าง (ในประเด็นยูเครน) เช่นกัน" วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันกล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกสถานทูตฝรั่งเศสในสหรัฐฯ ชี้แจงว่าความคิดเห็นของมาครง ถูกตีความเกินจริง "สหรัฐฯ คือพันธมิตรของเรา เป็นพันธมิตรที่เราแชร์ค่านิยมของเราร่วมกัน"

ท่ามกลางเสียงโวยวายจากบรรดานักการเมืองของ 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ (10 เม.ย.) กล่าวว่ายังคงมีความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฝรั่งเศส แม้ มาครง ปลีกตัวเองออกห่างจากนโยบายของอเมริกาในประเด็นไต้หวัน และเตือนเหล่าชาติยุโรปว่าอย่าได้เป็นบริวารของสหรัฐฯ

จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า รัฐบาลของไบเดน "ยังคงสบายใจและมั่นใจในความสัมพันธ์ทวิภาคีอันยอดเยี่ยมที่เรามีกับฝรั่งเศส"

นอกจากนี้ เคอร์บียังอ้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง ไบเดน กับ มาครง และบอกว่าทั้ง 2 ประเทศ "กำลังทำงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ มากมาย" ในนั้นรวมถึงปฏิบัติการทางทะเลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

มาครง แนะนะว่า ยุโรปซึ่งพึ่งพิงกองทัพอเมริกาอย่างมากในด้านการคุ้มครองด้านการทหารนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ควรกลายมาเป็น "มหาอำนาจที่ 3"

ความพยายามของมาครง ในการปลีกตัวเองออกห่างจากพันธมิตรของสหรัฯ ในยุโรป จากประเด็นที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน มีขึ้นไม่นานก่อน จีน ปิดฉากการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่รอบใหม่ โดยมีเจตนาปิดล้อมข่มขู่ไต้หวัน

การสำแดงแสนยานุภาพล่าสุดของจีน เป็นความเคลื่อนไหวตอบโต้การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ในนั้นรวมถึงพบปะกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

เว็บไซต์ Politico พาดหัวข่าวว่า "มาครงอันฟอลโลว์วอชิงตัน" ส่วนบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เขียนว่า มาครงทำผิดพลาดและกำลังบ่อนทำลายความพยายามที่นำโดยสหรัฐฯ ในการป้องปรามจีน

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น