xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ฝรั่งเศสเตือนยุโรปเร่งสร้างตัวเป็น ‘ขั้วที่ 3’ ต้องอิสระจากทั้งสหรัฐฯ และจีน และอย่าร่วมเร่งวิกฤตไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส จิบน้ำชาแบบจีนพร้อมกับสนทนาหารือกัน ณ บ้านพักของผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ในเมืองกว่างโจว เมื่อวันศุกร์ (7 เม.ย.) ที่ผ่านมา (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส กล่าวแสดงความคิดเห็นที่เผยแพร่ในวันอาทิตย์ (9 เม.ย.) ว่ายุโรปไม่ได้ผลประโยชน์อะไรในการเร่งวิกฤตไต้หวัน และควรเสาะหายุทธศาสตร์ที่เป็นอิสระจากทั้งสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจำกัดการพึ่งพาอเมริกา

มาครง เพิ่งกลับจากการเดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับแบบให้เกียรติสูงสุดในฐานะอาคันตุกะของประมุขแห่งรัฐ (state visit) จากประธานาธิบดีสี สิ้นผิง ถัดจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง จีนก็เริ่มต้นการซ้อมรบใหญ่รอบๆ ไต้หวันตั้งแต่วันเสาร์ (8 เม.ย.) ตอบโต้กรณีที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไทเป พบปะกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ขณะแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่แคลิฟอร์เนียเมื่อวันพุธ (5)

จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตน และไม่เคยตัดความเป็นไปได้ของการใช้กำลังเพื่อเกาะแห่งนี้กลับไปอยู่ภายใต้การบริหารปกครองของตน ขณะที่รัฐบาลในไต้หวัน ซึ่งเพิ่งระงับการอ้างตนเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวของประเทศจีนทั้งหมดเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง เวลานี้พยายามบอกว่าตนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีอำนาจปกครองตัวเอง และส่งเสียงคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อคำกล่าวอ้างของจีน

มาครง กล่าวว่ายุโรปไม่ควรไปเร่งความขัดแย้งดังกล่าวนี้ แต่ควรใช้เวลาไปในสร้างสถานะของตนเองในฐานะที่เป็นขั้วที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเขาพูดเช่นนี้ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Les Echos ของฝรั่งเศส และเว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ Politico ระหว่างที่เขากำลังเยือนจีน

"มันจะเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่สุด หากคิดว่าเรายุโรปต้องกลายเป็นบริวารผู้เดินตามในประเด็นนี้ และต้องปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของอเมริกา หรือให้เข้ากับปฏิกิริยาตอบโต้อันเลยเถิดของจีน" เว็บไซต์ Politico อ้างคำกล่าวของมาครง

“เราต้องมีความชัดเจนว่าทัศนะของเรามีการเหลื่อมล้ำกับของสหรัฐฯ ที่ตรงไหนบ้าง มันอาจจะเป็นเรื่องยูเครน ความสัมพันธ์กับจีน หรือการแซงก์ชัน แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ของยุโรป”

“เราไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในหลักตรรกะแบบที่กลุ่มประเทศหนึ่งต่อสู้กับอีกกลุ่มประเทศหนึ่ง” เขากล่าวต่อ และบอกว่า ยุโรปไม่ควรถูกผูกเอาไว้ในโลกที่ไร้ระเบียบ และในวิกฤตที่ไม่ใช่ของเราเลย”

มาครงกล่าวว่า เรื่องไต้หวันเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นตัวเร่งความขัดแย้งตึงเครียดระหว่าง 2 ผู้ผูกขาด ซึ่งก็คือจีนและสหรัฐฯ ให้ระเบิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมา

ถ้าหากการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่ายดังกล่าวนี้มีการบานปลายขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินไป ยุโรป “ก็จะไม่มีเวลาหรือทรัพยากรสำหรับการสนับสนุนทางการเงินแก่ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของเรา และจะต้องกลายเป็นรัฐบริวารไป ขณะที่เราสามารถสร้างขั้วที่ 3 ขึ้นมาได้ถ้าเรามีเวลาสัก 2-3 ปี” เขากล่าวต่อ

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวกับสื่อมวลชนทั้ง 2 แห่งต่อไปว่า ยุโรปต้องยกระดับความสนับสนุนด้านเงินทุนแก่อุตสาหกรรมกลาโหม การพัฒนานิวเคลียร์และพลังงานทดแทน รวมถึงลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดการพึ่งพาอเมริกา

การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน 2 รายนี้กระทำกันในเที่ยวบินเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งกับนครกว่างโจว เมื่อวันศุกร์ (7) โดยที่ สี ซึ่งยังตามมาต้อนรับ มาครง ถึงเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งด้วย ได้เลี้ยงน้ำชาแบบจีนที่สวนในบ้านพักของผู้ว่าการกวางตุ้ง

ในวันศุกร์นั้นเอง ที่ปรึกษาคนหนึ่งของมาครง บอกกับผู้สื่อข่าวที่กว่างโจว ว่า สี และ มาครง ได้ทำหารือกันอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาไต้หวัน ระหว่างพบปะพูดคุยกัน "ความรู้สึกของท่านประธานาธิบดี (มาครง) คือ เราควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุใดๆ และทำให้เกิดความตึงเครียดที่ลุกลามบานปลาย จนอาจนำไปสู่การรุกราน (ไต้หวัน) ของจีน" ที่ปรึกษาผู้นี้กล่าว

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น