เมื่อเสียงอึกทึกเปรี้ยงปร้างจากโรงผลิตอาวุธเลื่องชื่ออื้อฉาวที่สุดของปากีสถาน เริ่มหนักหนากว่าจะทนทานได้ มูฮัมหมัด จาฮันเซบ พ่อค้าอาวุธระดับเอสเอ็มอี แวบออกจากร้าน เดินผ่านเพื่อนร่วมงานที่ง่วนกับการทดสอบยิงปืนกลใส่แผงหินเชิงเขา เพื่อหลบไปยังแหล่งพักสมอง อันได้แก่ ห้องสมุดซึ่งสะอาดสะอ้านในย่านสงบเงียบของเมืองป่าแดนปืนเถื่อน นามว่า ดาร์รา อาดัม เคล
“มันเป็นงานอดิเรกของผมครับ ผมโปรดปรานของผมมาก ผมจะหาเวลาเว้นวรรคจากการงาน ไปนั่งอ่านโน่นนี่เป็นพักๆ” หนุ่มปากีสถานเชื้อสายปาทานวัย 28 ปีให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวเอเอฟพี หลังเสร็จจากการพานักข่าวทัวร์โชว์รูมผลิตภัณฑ์เถื่อนของตัว ซึ่งมีทั้งปืนแบรนด์ดัง งานก๊อปเกรดพรีเมียม และอาวุธอื่นๆ ที่สะสมขึ้นมาเต็มร้าน ละลานตา สมฐานะดีลเลอร์ค้าอาวุธ โดยมีทั้งปืนยาวไรเฟิลแบบวินเทจ อาวุธสังหารที่ก๊อปปี้จากแบรนด์หรูรุ่นโด่งดัง อีกทั้งมีดพกสปริงที่ใช้วัสดุหรูหราดูดีวาววับเรียงรายเป็นแถวน่าเกรงขาม
“ผมใฝ่ฝันเรื่อยมาว่าถิ่นของเราจะต้องมีห้องสมุดดีๆ สักแห่ง ความฝันของผมกลายเป็นความจริงแล้วครับ”
ดาร์รา อาดัม เคล คือเมืองเล็กๆ บริเวณเชิงเขาแห่งเทือกเขาสูงตระหง่าน และมีบรรยากาศละม้ายถิ่นคาวบอยอเมริกันโบราณอย่าง The Wild Wild West และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชาวชนเผ่า ผู้คนถิ่นนี้ยังยึดมั่นในแนวคิดอนุรักษนิยมสุดๆ ส่งผลให้ดาร์รา อาดัม เคล เลื่องระบือในเรื่องกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่ศาสนาอิสลาม ก่อเหตุรุนแรง และค้ายาเสพติดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาพำนักอาศัยกันอยู่ในอาณาบริเวณเทือกเขาสปินการ์เรนช์ที่กั้นระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน อันเป็นถิ่นที่ดูเสมือนจะห่างไกลการพัฒนา และละม้ายจะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน
ผู้คนในปากีสถานและเมืองใกล้เคียง รู้จัก ดาร์รา อาดัม เคล ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นที่ตั้งของตลาดมืดอาวุธเถื่อนงานก๊อปเกรดเอ และคึกคักด้วยร้านรวงเล็กๆ ซึ่งวางขายปืนไรเฟิลเลียนแบบปืนอเมริกัน ปืนพกผลิตเองโฉมหน้าเหมือนปืนรีวอลเลอร์แบรนด์ดัง และแน่นอนว่าจะต้องมีอาวุธปืนไรเฟิลจู่โจมที่ก็อปปี้ปืนชื่อดังยอดนิยมอย่าง อาก้า (เอเค-47) ตั้งโชว์กันเกลื่อนเมือง
แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือ บนผืนดินซึ่งห่างบรรดาครัวเรือนช่างผลิตปืนเถื่อนไปชั่วระยะเดินได้ไม่ไกล มีห้องสมุดแสนสวยประจำเมืองตั้งอยู่ เอเอฟพีรายงาน
ห้องสมุดของอดีตดีลเลอร์ค้าอาวุธเถื่อนนำเสนอหนังสือเยอะมาก มีหลากหลายหมวดให้เลือกหยิบอ่าน ไม่ว่าจะเป็น นวนิยายคลาสสิกของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เรื่อง"Mrs.Dalloway" หรือ ซีรีส์นวนิยายโรมานซ์จินตนาการถึงพวกแวมไพร์ซึ่งฮิตในหมู่วัยรุ่นอย่างชุด"Twilight" ตลอดจนหนังสือกลุ่มไม่ใช่เรื่องแต่ง
อย่างเช่น “Life, Speeches and Letters” (ชีวิต คำปราศรัยและจดหมาย) ของอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นพร้อมนี้ยังมีนวนิยายในภาษาอูรดูเป็นจำนวนมาก
“ตอนแรกๆ พวกเราก็ท้อแท้หมดกำลังใจเหมือนกัน คนมักถามว่า “หนังสือจะมีประโยชน์อะไรสำหรับท้องถิ่นอย่างดาร์รา อาดัม เคล ที่นี่.. ใครจะมาอ่านหนังสือกัน” เล่าออกมาโดย อาจารย์ มูฮัมหมัด ราช
หนอนหนังสือวัย 36 ปีที่เคยดำรงชีพอยู่ในสายดีลเลอร์ค้าปืนเถื่อน เขาเป็นผู้ก่อตั้งห้องสมุดแสนสวยแห่งนี้
อาจารย์มูฮัมหมัด ราช เป็นทายาทตระกูลนักประดิษฐ์ปืนอันเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของเมืองดาร์รา
อาดัม เคล เขาได้รับการศึกษาสูงถึงระดับปริญญาโทสาขาวรรณคดีอูรดูจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเปศวาร์ เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ ปัคตุนควา ในปากีสถาน เมื่อเขาตัดสินใจยุติอาชีพค้าปืน ก็ได้ผันตนเองมาเป็นนักวิชาการ กวี และครูคนสำคัญของท้องถิ่น
ในความเป็นหนอนหนังสือตัวพ่อและบนความปรารถนาจะส่งเสริมผู้คนให้เข้าถึงหนังสือและการศึกษา อาจารย์ ราช เกิดแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนให้ลงมือก่อตั้งห้องสมุดคุณภาพเยี่ยมแห่งเดียวในเมืองไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ในปี 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจากทางการสายทหาร กลายเป็นอาคารขนาด 65 ที่นั่ง
นิวยอร์กไทมส์รายงานไว้ในสกู้ปปี 2019
พร้อมนี้ นิวยอร์กไทมส์ระบุอยู่ในสกู้ปด้วยว่า กองทัพปากีสถานต้องการให้หนังสือเข้าไปช่วยบำบัดรักษาสุขภาพจิตของประชาชน ให้ฟื้นตัวจากความทุกข์สาหัสที่ได้รับในช่วงหลายปีที่กองกำลังนักรบตอลิบานยึดเมืองดาร์รา อาดัม เคล และปกครองด้วยความรุนแรง จนกระทั่งกองทัพปากีสถานเข้าไปช่วยปลดปล่อยในปี 2018
สามปีกว่าที่ผ่านมาห้องสมุดแห่งดาร์รา อาดัม เคล ประสบความสำเร็จช่วยส่งเสริมการอ่านของผู้คนในเมืองป่าปืนเถื่อนได้มากขึ้นเรื่อยๆ
“มาถึงตอนนี้ เรามีคนเข้าเป็นสมาชิกห้องสมุดมากกว่า 500 คนแล้วครับ” อาจารย์โมฮัมหมัด ราช กล่าวกับเอเอฟพี
การแปลงโฉมของชนเผ่า
บรรดาถิ่นต่างๆ ของชนเผ่าชาวเขาทั้งหลายในปากีสถาน มีฐานะเป็นเขตกึ่งปกครองตนเองมาเนิ่นนานกระทั่งถึงปี 2018 จึงถูกนำไปรวมเข้ากับแคว้นหลักในอาณาเขตเดียวกัน นั่นคือ แคว้นไคเบอร์ ปัคตุนควา ชุมชนเหล่านี้ติดอันดับพื้นที่ซึ่งมีอัตราผู้รู้หนังสือต่ำที่สุดของประเทศ สืบเนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ ความยากจน ค่านิยมที่ถือผู้ชายเป็นใหญ่และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมาจากความขัดแย้งภายในชนเผ่า ตลอดจนการขาดแคลนโรงเรียน
แต่ทัศนคติต่างๆ ทยอยเปลี่ยนแปลง แม้จะดำเนินไปอย่างช้าๆ นี่เป็นความเชื่อของ ชาฟิอัลเลาะห์ อาฟริดี บรรณารักษ์อาสาสมัครวัย 33 ปี เขาชี้ว่า “ความเปลี่ยนแปลงมีขึ้นมากในหมู่คนรุ่นเยาว์ ซึ่งหันมาสนใจการศึกษา แทนที่จะหมกมุ่นแต่เรื่องอาวุธ”
“เมื่อชาวเมืองดาร์รา อาดัม เคล เห็นหนุ่มๆ ในละแวกบ้านใกล้กัน กลายเป็นหมอ เป็นวิศวกร คนอื่นๆ จึงเริ่มส่งลูกไปโรงเรียนบ้าง” หนุ่มบรรณารักษ์ อาฟริดี เล่าไว้อย่างนั้น
องค์ความรู้ของ อาฟริดี นับว่ากว้างขวางลึกซึ้งทีเดียว เขารับหน้าที่ดูแลรักษาหนังสือในห้องสมุดของ ราช มูฮัมหมัด ดีลเลอร์อาวุธเถื่อน ซึ่งสะสมได้แล้วกว่า 4,000 ปก โดยเป็นหนังสือภาษาต่างๆ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ กับภาษาอูรดู ซึ่งใช้กันแพร่หลายในปากีสถาน และภาษาปาชโตที่ใช้กันในเขตชาวชนเผ่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปาชตุนที่คนไทยเรียกด้วยคำว่าปาทาน
ถึงแม้อยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกของพวกนักประดิษฐ์ปืนที่หมกมุ่นตรวจเช็กคุณภาพ-มาตรฐานผลิตภัณฑ์ปืน และสาดกระสุนเข้าใส่ประดาแปลงดินทดสอบอาวุธ จนฝุ่นคละคลุ้งไปทั่ว แต่บรรยากาศที่ห้องสมุดกลับเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยเหล่านักอ่านยกชาเขียวขึ้นมาจิบครั้งแล้วครั้งเล่าพร้อมกับละเลียดตัวอักษรอยู่ในความบันเทิงรื่นรมย์
อย่างไรก็ตาม อาฟริดี ต้องไฝว้หนักหนาทีเดียว เพื่อบังคับใช้กฎ “ห้ามพกอาวุธเข้าห้องสมุด” อย่างเข้มงวด ระหว่างกะทำงานของเขา
ดีลเลอร์ค้าอาวุธหนุ่มน้อยนายหนึ่ง เดินเตร่มาที่อาคารห้องสมุดซึ่งทาสีแซลมอน ส้ม-ชมพู เขาวางปืนอาก้าประจำกายไว้ที่ประตู ทว่ายังคาปืนพกที่คาดอยู่กับสะเอว และหายเข้าไปในหมู่หนอนหนังสือ คว้าหนังสือที่อ่านติดพันงอมแงมออกจากชั้นเรียง นักข่าวเอเอฟพีเล่าเหตุการณ์จริงที่ได้เห็นด้วยตาตนเอง
นอกจากพวกหนังสือปกอ่อนที่เป็นผลงานนิยายของนักเขียนชื่อดังก้องโลก อย่าง ทอม แคลนซี สตีเฟน คิง และ ไมเคิล คริชตัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าป๊อบปูลาร์ขั้นสุดเพราะหลายๆ เล่มอยู่ในสภาพขาดกะรุ่งกะริ่งแล้ว ก็ยังมีหนังสือปกแข็งเล่มหนาที่บอกเล่ารายละเอียดประวัติศาสตร์ของปากีสถานและอินเดีย ไปจนถึงคู่มือสอบเป็นข้าราชการพลเรือน ตลอดจนคำสอนศาสนาอิสลามซึ่งมีให้เลือกอ่านหลายหลากมากมาย
ความสง่างามเกิดจากการศึกษา ไม่ใช่อาวุธ
ห้องสมุดเป็นอะไรที่พบเห็นได้ยากมากในพื้นที่แถบชนบทของปากีสถาน แม้กระทั่งตามศูนย์ชุมชนเมืองใหญ่ๆ ก็พบเห็นได้ไม่กี่แห่ง โดยห้องสมุดส่วนใหญ่มักมีการจัดเก็บหนังสือที่ย่ำแย่ และไม่ค่อยมีใครเข้าไปใช้
แต่ห้องสมุดใน ดาร์รา อาดัม เคล เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2018 ในสภาพที่เป็นห้องอ่านหนังสือ ณ ชั้นบนของร้านขายปืนของ ราช มูฮัมหมัด ในท่ามกลางร้านขายอาวุธนับร้อยๆ ร้านบริเวณใจกลางตลาดมืดอาวุธเถื่อนนั่นเลย โดยหนังสือรุ่นแรกๆ ในห้องสมุดแห่งนี้ คืองานสะสมส่วนตัวของอดีตดีลเลอร์มูฮัมหมัด
“คุณสามารถพูดได้ว่า เราเพาะพันธุ์ห้องสมุดแห่งนี้ขึ้นมาในท่ามกลางกองอาวุธ” เป็นคำกล่าวของ มูฮัมหมัด ผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการ กวี และครูคนสำคัญของท้องถิ่น หนอนหนังสือตัวยงที่มีชีวิตเติบโตขึ้นมาจากตระกูลนักประดิษฐ์ปืนอันเก่าแก่ยาวนาน
ร้านรวงที่บาซาร์ค้าอาวุธเถื่อนแห่งดาร์รา อาดัม เคล ล้วนเป็นห้องเช่าชั้นเดียว บางร้านเป็นโชว์รูม บางร้านเป็นโรงผลิต บางร้านเป็นสำนักงานขายซึ่งมีคอมพิวเตอร์แลปทอปวางบนตั่งเตี้ยตัวโต ส่วนสำหรับผู้ที่ต้องการเช่าชั้นบนด้วย จะต้องจ่ายค่าเช่าต่างหาก
ทั้งนี้ อดีตดีลเลอร์ปืนเถื่อนมูฮัมหมัด ราช ยอมจ่ายค่าเช่าสำหรับห้องอ่านหนังสือ ณ ชั้นบนของร้านโชว์รูมในอัตราเดือนละ 2,500 รูปี (ราว 11 ดอลลาร์)
กระนั้นก็ตาม พวกผู้รักหนังสือรักการอ่านต้องต่อสู้หนักทีเดียวสำหรับการตั้งสมาธิให้อยู่กับตัวอักษรตรงหน้าในท่ามกลางเสียงครวญครางของเครื่องกลึง และเสียงค้อนตีโลหะจากโรงผลิตอาวุธเถื่อนที่โม่งานอย่างขะมักขะเม้นในบรรดาห้องต่างๆ ที่ชั้นล่าง
การณ์ปรากฏว่าโครงการห้องอ่านหนังสือแห่งนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งว่าพื้นที่ห้องเดียวไม่เพียงพอรองรับนักอ่าน ดังนั้น ในอีกหนึ่งปีต่อมาจึงมีการโยกย้ายไปยังอาคารใหม่แสนงามที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนักอ่านโดยเฉพาะ เงินทุนสร้างอาคารห้องสมุดได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นและตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งมีผู้บริจาค
“กาลแต่ก่อนนั้น มันเป็นยุคสมัยที่คนหนุ่มๆ ของเราประดับกายตนเองด้วยอาวุธต่างๆ แทนการสวมใส่อัญมณีสูงค่า” อีร์ฟานุลเลาะห์ ข่าน วัย 65 ปี เล่าสู่นักข่าวเอเอฟพี เขาเป็นประมุขแห่งครอบครัวที่บริจาคที่ดินผืนดังกล่าวนี้
“แต่ผู้ชายนะดูหล่อเหลาสง่างามได้ด้วยอัญมณีของความรู้ ความงามน่ะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาวุธหรอก แต่มันขึ้นอยู่กับการศึกษา” ผู้อาวุโส ข่าน กล่าวอย่างนั้น โดยตัวเขาก็อุทิศเวลาทำงานให้ห้องสมุด เคียงข้างกับ อาฟริดี ผู้เป็นบุตรชาย
สำหรับสาธารณชนทั่วไป บัตรเข้าอ่านหนังสือในห้องสมุดมีค่าใช้จ่ายใบละ 150 รูปี (0.66 ดอลลาร์) ต่อปี ขณะที่พวกนักเรียนได้ลดราคาเหลือ 100 รูปี (0.44 ดอลลาร์) โดยจะเห็นเด็กเล็กเด็กโตพากันเข้าๆ ออกๆ ห้องสมุด แม้กระทั่งระหว่างที่โรงเรียนหยุดพักการเรียนการสอน เด็กๆ ก็พากันมาเพลิดเพลินกับหนังสือ
สมาชิกห้องสมุดราว 1 ใน 10 เป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียวสำหรับท้องถิ่นชาวชนเผ่า ถึงแม้ว่าในทันทีที่พวกเธอย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พวกเธอก็ต้องแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวแต่ภายในบ้านตามประเพณีของท้องถิ่น และต้องขอให้สมาชิกในครอบครัวที่เป็นชายเป็นผู้หยิบยืม-ส่งคืนหนังสือในนามของพวกเธอ
ในคาบหยุดพักชั้นเรียนตอนช่วงสายๆ เด็กนักเรียนหญิง มานาฮิล จาฮันกีร์ วัย 9 ขวบ และ ฮารีม ซาอีด วัย 5 ขวบ จูงมือกันมาที่ห้องสมุดเพื่อพลิกอ่านหนังสือ น้องๆ สองหญิงนั่งปะปนไปกับคุณลุงคุณอาผู้ชายซึ่งล้วนแต่ตัวสูงๆ เลยศีรษะของพวกเธอกันทั้งนั้น
“ความฝันของแม่คืออยากให้หนูเป็นหมอ” น้องซาอีดกล่าวเอียงอาย “ถ้าหนูขยันมาอ่านหนังสือที่นี่ หนูจะทำให้ฝันของแม่กลายเป็นจริงได้ค่ะ”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอเอฟพี และนิวยอร์กไทมส์)