(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Digital worlds diverge at World Mobile Congress
By DAVID P GOLDMAN
03/03/2023
“หัวเว่ย”ของจีนมีวิสัยทัศน์มุ่งผลักดันบรอดแบนด์ 5จี เพื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จนถึงเวลานี้โลกตะวันตกยังคงล้มเหลวที่จะลอกเลียนแบบหรือยอมรับกระทำตาม
บาร์เซโลนา, สเปน - ผู้เข้าร่วมงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส (Mobile World Congress หรือ MWC Barcelona) ประจำปีนี้ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม) ซึ่งมีจำนวนมากมายเป็นสถิติใหม่ถึง 85,000 คน ได้เห็นวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตแห่งยุคดิจิทัล 2 แบบ ที่มีความแตกต่างกันอย่างแรง
พวกบริษัทเทเลคอมของตลาดประเทศพัฒนาแล้ว คิดถึงบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค และรู้สึกกังวลใจว่าตลาดของพวกเขาใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ หัวเว่ย บริษัทที่ถือเป็นกิจการเรือธงด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของจีน คิดถึง 5จี ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม และเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่กำลังใกล้ที่จะเริ่มต้นเปิดเฉากขึ้นมาแล้ว
เมื่อ 2 ปีก่อน พวกสื่อมวลชนในโลกตะวันตกพากันเขียนประกาศข่าวมรณกรรมให้แก่ หัวเว่ย หลังจากคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมให้บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง แห่งนี้เข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยรวมถึงพวกชิปรุ่นใหม่ๆ ทำงานได้รวดเร็วที่สุดที่มีความกว้างของ gate width แค่ 7 นาโนเมตร หรือน้อยกว่านั้นอีก
สืบเนื่องจากการถูกแซงก์ชันดังกล่าวนี้ หัวเว่ย ซึ่งยอดขายโทรศัพท์มือถือเคยแซงหน้ายอดขายของแอปเปิลไปได้เป็นช่วงระยะสั้นๆ ต้องสูญเสียธุรกิจสมาร์ทโฟนของตนไปแทบทั้งหมด ทว่าบริษัทได้กลับผงาดขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง โดยคราวนี้อยู่ในฐานะเป็นผู้จัดหาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของแอปพลิเคชันด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ซึ่งยึดโยงอยู่กับระบบคลาวด์ (cloud-based) โดยมีทั้งแอปพลิเคชันสำหรับการทำเหมือง สำหรับพวกอุตสาหกรรมด้านการผลิตและบริการต่างๆ และในฐานะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับพวกอุตสาหกรรมเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านรถยนต์
เหล่าเจ้าหน้าที่ของหัวเว่ยกล่าวว่า พวกเขาคาดหมายเอาไว้ว่าเฉพาะธุรกิจด้านรถยนต์ของบริษัทเพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำเงินสูงเกินกว่ารายรับจากของธุรกิจโทรศัพท์มือถือของบริษัทเมื่อปี 2021 ซึ่งอยู่ในช่วงพีกสุดเสียอีก พวกเขายังคาดการณ์ด้วยว่าจะมีรายรับอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังจากแผนกพลังงานสีเขียวของบริษัท ซึ่งมีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีเอไอ เพื่อเพิ่มพูนยกระดับความสามารถในการแปลงพลังงาน
ตามการประมาณการของ หัวเว่ย ระบุว่า เวลานี้มีธุรกิจจีนมากกว่า 10,000 แห่งสร้างเครือข่าย 5จี ขึ้นมาเพื่อการใช้งานของตนเองโดยเฉพาะ (dedicated networks) หรือมีลักษณะเป็นเครือข่ายส่วนตัวเฉพาะ (private networks) ของบริษัท โดยที่ธุรกิจที่กล่าวนี้เป็นกิจการด้านอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่า 6,000 แห่ง
เปรียบเทียบกันแล้ว เวลานี้มีเครือข่าย 5จีแบบเป็นเครือข่ายส่วนตัวเฉพาะซึ่งอยู่นอกประเทศจีนรวมทั้งสิ้นเพียงแค่ 171 แห่ง ในจำนวนนี้ที่เป็นโรงงานมีไม่ถึง 20 แห่ง “นั่นเป็นเพราะว่ารัฐบาลจีนกำลังผลักดันให้พวกบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตต้องนำเอา 5จี และเอไอมาใช้งาน” ผู้ชำนาญการพิเศษคนหนึ่งของหัวเว่ย อธิบาย
อีริคสัน และโนเกีย ที่เป็นคู่แข่งสัญชาติยุโรปของหัวเว่ยนั้นไม่มีตัวอย่างแอปพลิเคชันซึ่งนำเอา 5จี มาใช้กับธุรกิจใดๆ มาแสดงเลย ในนิทรรศการของพวกเขาที่งาน MWC Barcelona คราวนี้ โดยที่ผู้ทำหน้าที่โฆษกแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนให้ อีริคสัน รายหนึ่ง บอกด้วยว่า ทางบริษัทไม่มีข้อมูลในเรื่องจำนวนของเครือข่าย 5จี แบบส่วนตัวเฉพาะ ซึ่งสร้างขึ้นมาสำหรับธุรกิจต่างๆ
ขณะที่บริษัทจีนรายนี้ทุ่มซื้อพื้นที่ทั้งหมดของอาคารแสดงนิทรรศการ 1 ของศูนย์แสดงสินค้าบาร์เซโลนาแฟร์ (Barcelona Fair’s first Exhibition hall) พวกคู่แข่งรายหลักๆ รวมทั้งโนเกีย อีริคสัน ซัมซุง และไอบีเอ็ม เข้าไปรวมอยู่ด้วยกันแน่นขนัดในอาคารแสดงนิทรรศการ 2
เพียงเมื่อ 3 ปีก่อนนี้เอง สื่อมวลชนตะวันตกพากันพยากรณ์มรณกรรมของบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติของจีนรายนี้จากการที่ทางการสหรัฐฯ ออกมาตรการบีบคั้นจำกัดการขายชิป ข่าวพาดหัวในเดือนสิงหาคม 2020 ชิ้นหนึ่งของโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงขนาดประกาศเอาไว้ว่า คณะบริหารทรัมป์ได้ “กระหน่ำตีอย่างหนักหน่วงเพื่อเอาให้ตาย” ต่อ หัวเว่ย แล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2020/08/17/tech/huawei-us-sanctions-hnk-intl/index.html)
“สหรัฐฯได้ตัดขาดไม่ให้ หัวเว่ย เข้าถึงพวกชิปคอมพิวเตอร์ระดับก้าวหน้าซึ่งทรงความสำคัญถึงขั้นเป็นตาย เป็นการกระหน่ำตีแชมเปี้ยนเทคของจีนรายนี้อย่างหนักหน่วงเพื่อเอาให้ตายกันทีเดียว” โทรทัศน์ช่องข่าวของสหรัฐฯ รายนี้ระบุในตอนนั้น แล้วยังมีอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์อเมริกันคนหนึ่งพูดสำทับว่า มาตรการแซงก์ชันของคณะบริหารทรัมป์ “มีคุณค่าเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ในทางการค้า”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2020/08/14/tech/huawei-kirin-chipsets-hnk-intl/index.html)
นั่นเป็นความจริงสำหรับธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ หัวเว่ย ซึ่งหล่นฮวบลงมาจนเหลือส่วนแบ่งไม่ถึง 5% ของตลาดสมาร์ทโฟนโลกในปี 2023 จากที่เคยมีอยู่เกือบๆ 20% ในปี 2020 ทั้งนี้ เมื่อไม่มีชิปขนาด 7 นาโนเมตรและเล็กกว่านั้นสำหรับเป็นตัวให้พลังแก่สมาร์ทโฟน 5จี หัวเว่ยก็ไม่สามารถแข่งขันได้ในเซ็กเตอร์นี้
แต่สมาร์ทโฟนเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของธุรกิจของหัวเว่ยเท่านั้น และไม่เคยเป็นแผนกที่สามารถทำกำไรได้สูงที่สุดเลยด้วยซ้ำ ขณะที่พวกระบบทางอุตสาหกรรมซึ่งให้พลังแก่รถอัจฉริยะหรือเป็นตัวขับดันโครงสร้างพื้นฐาน 5จี หรือเป็นปัจจัยทำให้เกิดการทำงานแบบอัตโนมัติขึ้นมา เหล่านี้ไม่ได้ใช้พวกตัวทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กจิ๋วสุดๆ เช่นนี้เลย
ชิปขนาด 28 นาโนเมตร ที่ถือเป็นชิปเจเนอเรชันรุ่นเก่ากว่า คือตัวให้พลังแก่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแอปพลิเคชันทางอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของหัวเว่ย โดยที่จีนสามารถผลิตชิปเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เวลานี้คณะบริหารไบเดนได้ตัดขาดไม่เฉพาะแค่หัวเว่ย แต่ครอบคลุมประเทศจีนทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว ไม่ให้เข้าถึงพวกชิปรุ่นก้าวหน้าที่สุดและเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปรุ่นก้าวหน้าที่สุด ทว่า หัวเว่ย ก็ไม่ได้ถึงกับก้าวเดินต่อไปไม่ได้หรือมีฝีเท้าที่ติดขัดชะลอตัวลง
นิทรรศการที่บาร์เซโลนาของ หัวเว่ย แสดงการใช้บรอดแบนด์และแอปพลิเคชันเอไอ 20 กว่ารายการ สำหรับธุรกิจต่างๆ อันกว้างขวางหลายหลาก ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต, การทำเหมือง, โกดังคลังสินค้า, รางรถไฟ, การบริหารจัดการถนน, การดูแลรักษาสุขภาพ, การศึกษา และการปฏิบัติงานของภาครัฐบาล
พื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพวกบูททางด้านอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ซึ่งอุทิศให้แก่พวกพาร์ตเนอร์ของ หัวเว่ย ที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของบรอดแบนด์ โดยมีตั้งแต่เรื่องการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในแอฟริกา ไปจนถึงการบริหารจัดการโรงพยาบาลในประเทศไทย
สิ่งที่ผมเรียกว่า “แผนการของจีนเพื่อสร้างรูปลักษณ์แบบจีน (Sino-form) ขึ้นมาในโลก” ในหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2020 ของผม (ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของพวกประเทศกำลังพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในลักษณะเลียนแบบสิ่งที่ประเทศจีนกระทำมา) กำลังเดินหน้าไปด้วยฝีก้าวรวดเร็วน่าจับตามอง
(หนังสือเล่มนี้ของผู้เขียน เดวิด พี โกลด์แมน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.com/You-Will-Be-Assimilated-Sino-form/dp/1642935409 )
ในสหรัฐฯ และยุโรป บรอดแบนด์ 5จี สามารถเสนอผลงานแบบดีเพิ่มขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ทั้งนี้ตามการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ที่ดำเนินการโดย ทอมส์ ไกด์ (Tom’s Guide) แต่ว่าอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดในประเทศจีนเวลานี้ เร็วกว่า 3 เท่าตัวของที่ทำได้ในสหรัฐฯ ซึ่งอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ยทำได้แค่เพียง 100 เมกะไบต์ต่อวินาที เท่ากับ 1 ใน 10 ของเพดานการดาวน์โหลดสำหรับ 5จี
(ผลการศึกษาของ ทอมส์ไกด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tomsguide.com/features/5g-vs-4g)
ส่วนในเยอรมนี ยูสเซอร์ที่มีโทรศัพท์มือถือ 5จี ใช้สัญญาณระดับความเร็ว 5จี ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งของเวลาในการใช้งานสมาร์ทโฟนของตนเท่านั้น โดยที่ผู้ให้บริการส่วนมากตั้งดีฟอลต์เอาไว้ที่ 4จี นี่ไม่เหมือนกับที่ประเทศจีน ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ ส่วนมากมีการให้บริการระดับ 5จี จริงๆ ด้วยอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดระดับ 300 เมกะไบต์ต่อวินาที การนำเอาเทคโนโลยีใหม่นี้ออกมาใช้งานในสหรัฐฯ และยุโรป จึงให้บริการแก่พวกลูกค้าได้เพียงบางส่วน อีกทั้งกลายเป็นสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ให้แก่ลูกค้าเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ
(เรื่องการใช้งาน 5จี ในเยอรมนี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.opensignal.com/2022/09/14/analyzing-the-5g-experience-in-germanys-cities-and-how-it-has-changed)
ประสบการณ์ที่ยูสเซอร์ 5 จีได้รับ จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเพิ่มขึ้นมา และพวกบริษัทเทเลคอมยุโรปรายใหญ่ๆ ต่างประสบความลำบากในการหารายรับให้เพียงพอสำหรับการสร้างความชอบธรรมแก่ต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอยู่ในระดับสูงลิบลิ่วถึง 60,000 ล้านยูโร
ในการกล่าวปราศรัยสำคัญต่อการประชุม MWC คราวนี้ คริสเทล เฮย์เดมานน์ (Christel Heydemann) ซีอีโอของ ออเรนจ์ เทเลคอม (Orange Telecom) และทิโมเธอุส ฮอตต์เกส (Timotheus Höttges) นายใหญ่ของ ดอยต์ เทเลคอม (Deutsche Telekom) ต่างบ่นพึมว่า มีผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น (ที่โดดเด่นกว่าเพื่อนก็คือ กูเกิล, เนตฟลิกซ์, เฟซบุ๊ก และแอมะซอน) ซึ่งเป็นผู้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่แทบทั้งหมด
พวกลูกค้าต่างไม่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มสำหรับโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาสำหรับ 5จี เรื่องนี้กลายเป็นการบีบคั้นบั่นทอนส่วนต่างที่พวกบริษัทเทเลคอมยุโรปสามารถหาได้ และเลยทำให้พวกผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์มีความได้เปรียบสูงในการต่อรอง พวกบริษัทเทเลคอมยุโรปจึงถูกบีบอัดอยู่ตรงกลางระหว่างต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่แพงขึ้นเรื่อยๆ กับเงินทองจำนวนจำกัดที่สามารถจะควักออกมาจากกระเป๋าของพวกผู้บริโภค
ในประเทศจีนนั้น หลักเศรษฐศาสตร์ของบรอดแบนด์เคลื่อนที่มีความแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ตามปากคำของ พอล สแคนแลน (Paul Scanlan) ที่ปรึกษาของประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยทางด้านธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (advisor to the president of Huawei’s carrier business) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สแคนแลน กล่าวว่า พวกแอปพลิเคชันด้านอุตสาหกรรมของ 5จี เวลานี้เป็นตัวที่ใช้สัญญาณอัปโหลดจำนวนมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งอีกไม่ช้าไม่นาน เครือข่ายใหม่ๆ เหล่านี้ก็จะล้าสมัยไปเสียแล้ว
ตัวอย่างเช่น พวกแอปพลิเคชันด้านปัญญาประดิษฐ์ของ 5จี เกี่ยวข้องกับการอัปโหลดข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาล ตั้งแต่พวกกล้องถ่ายภาพที่คอยถ่ายภาพสินค้าซึ่งกำลังเคลื่อนย้ายไปตามสายการผลิตเป็นล้านๆ ภาพต่อชั่วโมง, การอัปโหลดภาพเหล่านี้ไปที่คลาวด์สำหรับการวิเคราะห์ทางเอไอ, แล้วจากนั้นก็ดาวน์โหลดคำแนะนำต่างๆ ลงมา การอัปโหลดภาพถ่ายได้เช่นนี้ เปิดทางให้พวกระบบเอไอสามารถเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรม, แหล่งขุดเจาะน้ำมัน, เครื่องจักรอุปกรณ์การทำเหมือง และรูปแบบกิจกรรมอื่นๆ เป็นร้อยๆ อย่าง
หัวเว่ย เวลานี้พร้อมแล้วที่จะนำเอาสิ่งที่บริษัทเรียกว่า 5.5จี ออกมาใช้งาน ซึ่งก็คือชุดของการปรับปรุงยกระดับ 5จี ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ที่รวมๆ แล้วจะเพิ่มศักยภาพทางด้านข้อมูลขึ้นมาได้ราวๆ หนึ่งในสาม สแคนแลนคาดหมายว่า ภายนอกประเทศจีนนั้น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นผู้ที่นำเอา 5.5จี มาใช้งานก่อนใครๆ
ตามการอธิบายของ หัวเว่ย บอกว่า “5.5จี จะขยาย 5 จี ให้ดียิ่งขึ้น โดยที่มันจะเร็วกว่า, มีลักษณะอัตโนมัติมากกว่า และฉลาดกว่า 5จี รวมทั้งจะสนับสนุน frequency bands ได้มากขึ้น 5.5จีจะให้สมรรถนะทางเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้นไปอีก 10 เท่าตัว ซึ่งจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นการสร้างโอกาสต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่าตัว ภาพวิดีโอแบบเลือกมุมมองได้อย่างเสรี, enterprise cloudification, เครือข่ายเคลื่อนที่แบบส่วนตัวเฉพาะ, อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) แบบ passive และการรับสัญญาณและการสื่อสารแบบบูรณาการ (integrated sensing and communication) ทั้งหมดจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องขอบคุณความก้าวหน้าทั้งหลายในด้าน 5จี”
“5จี สู่ธุรกิจ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่า 5จี สู่ผู้บริโภคมากมายนัก” สแคนแลน กล่าวต่อ “จากสิ่งซึ่งนำมาแสดงที่นี่ เรากำลังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางธุรกิจบางอย่างของเรา มันไม่ได้มากมายอะไรนักหรอกในแง่ของสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว แต่เรามุ่งแสดงให้เห็นว่าทางผู้ดำเนินการด้านเทเลคอมที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้ทำอะไรกันไปแล้วบ้าง โดยเป็นการดำเนินการซึ่งอิงอยู่กับวัฒนธรรมในประเทศของพวกเขาเอง”
พวกเครือข่าย 5จีที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้งานของตนเองโดยเฉพาะ (dedicated networks) เปิดทางให้พวกผู้ผลิตทางอุตสาหกรรมสามารถนำเอา เอไอ มาประยุกต์ใช้กับเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์, การเปิดทางให้พวกหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกันได้โดยตรงภายในฟลอร์ทำงานในโรงงาน และดำเนินการซ่อมบำรุงในลักษณะมุ่งป้องกัน ให้แก่พวกเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ๆ ราคาแพง
เครือข่ายเช่นนี้เปิดทางให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยอาการโรคของผู้ป่วยซึ่งอยู่บนรถพยาบาลฉุกเฉินที่กำลังเดินทางมายังโรงพยาบาล และทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โดยใช้การเชื่อมต่อ 5จี
ระยะเวลาแฝง (ระยะเวลาที่ใช้ในการโต้ตอบ) ที่ต่ำมากของ 5จี เช่นเดียวกับศักยภาพของมันที่จะแสดงข้อมูลความคมชัดสูงเป็นปริมาณมากๆ แบบเรียลไทม์ ทำให้การผ่าตัดแบบทางไกลเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ การผ่าตัดอย่างประสบความสำเร็จครั้งแรกในด้านการผ่าตัดสัตว์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่ศูนย์วิจัยของบริษัทไชน่าเทเลคอม (China Unicom) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ศัลยแพทย์ชาวจีนผู้หนึ่งได้ทำการผ่าตัดนิ่วให้แก่คนไข้ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป 4,700 กิโลเมตร
(ความสำเร็จของการผ่าตัดสัตว์รายแรก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/huaweitech/industry-insights/outlook/mobile-broadband/wireless-for-sustainability/cases/worlds-first-remote-operation-using-5g-surgery)
Graphic: Asia Times
การที่จีนผันตัวทางเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มซีกโลกใต้ (Global South พวกประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกด้านใต้) บางทีอาจจะกลายเป็นเหตุการณ์ที่เป็นตัวกำหนดจังหวะก้าวเดินทางเศรษฐกิจของโลกแห่งต้นศตวรรษที่ 21 ก็ได้ ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอนุทวีปอินเดีย (ยกเว้นปากีสถาน) กำลังแสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดของโลกในเวลานี้
การพูดว่าโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลคือตัวขับดันหลักของการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านี้ กำลังกลายเป็นเรื่องที่แทบไม่มีใครโต้แย้งแล้ว อันที่จริงเรื่องนี้กลายเป็นทัศนะอย่างเป็นทางการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ด้วยซ้ำ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2023/01/09/asias-productivity-needs-a-boost-that-digitalization-can-provide) ยอดส่งออกที่พุ่งลิ่วของจีนไปสู่กลุ่มซีกโลกใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปสู่พวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียนั้น นำหน้าโดยพวกโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ซึ่งประเทศจีนมีฐานะเป็นผู้จัดหาจัดส่งรายหลักของโลก
เรากำลังอยู่ในช่วงของคลื่นลูกใหม่แห่งกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีขนาดใหญ่โตยิ่ง โดยที่ผู้นำคือประเทศจีนแทนที่จะเป็นโลกตะวันตก เป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะนำพาเอาผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ๆ จำนวนนับพันๆ ล้านคนเข้าสู่เศรษฐกิจระดับโลก
ถึงแม้ยอดส่งออกโดยรวมของจีนหล่นลงมา 9% ในเดือนธันวาคม 2022 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่การส่งออกของจีนไปยังบรรดาชาติอาเซียนสูงขึ้นราว 20% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2021 ตัวเลขเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวที่โดดเด่นน่าสนใจยิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง “Digital Infrastructure Propels New S.E. Asian Tigers,” Asia Times, February 5 2023 https://asiatimes.com/2023/02/digital-infrastructure-propels-new-se-asian-tigers/)
นี่คือการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในแบบเรียลไทม์ เทคโนโลยี 5จี ผสมผสานเข้ากับบิ๊กดาต้า และเอไอ เปิดทางให้พวกหุ่นยนต์ติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกัน ณ ฟลอร์ทำงานภายในโรงงาน หรืออินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งสามารถติดตามและขนถ่ายหีบห่อต่างๆ จากท่าเรือไปยังโกดังคลังสินค้า และต่อไปยังรถบรรทุกซึ่งจัดส่งไปยังลูกค้าคนสุดท้าย หรือเหมืองแร่ที่สามารถดำเนินงานโดยไม่ต้องการมีคนงานที่ทำงานอยู่ใต้ดินเลยแม้แต่คนเดียว
แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวกันนี้ยังสามารถทำให้มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยรายหนึ่งในบังกลาเทศ จะใช้กล้องถ่ายภาพความเร็วสูง มาสแกนพริกไทยแห้งซึ่งกำลังอยู่บนสายพานลำเลียง และใช้โปรแกรมเอไอเพื่อคัดเอาเม็ดพริกไทยที่ไม่ดีออกไป มันทำให้มีความเป็นไปได้สำหรับธนาคารแห่งหนึ่งในเคนยาจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้แก่พ่อค้าในหมู่บ้านอย่างมีคุณภาพสมเหตุสมผล ด้วยการใช้เทคโนโลยีจับพิกัดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบยืนยันกิจกรรมของพ่อค้าเหล่านั้น มันเปิดทางให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยรายหนึ่ง เสนอขายซอฟต์แวร์พื้นฐานแก่พวกธุรกิจขนาดเล็กๆ ผ่านทางซิมการ์ด
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการเพิ่มผลิตภาพขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ประชาชนผู้มีฐานะยากจนมากๆ แต่เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว มันคือตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในโลกของทุกวันนี้ ในกลุ่มซีกโลกใต้ส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนส่วนข้างมากต่างทำงานอยู่นอกระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ พวกเขาไม่ได้ชำระภาษี และพวกเขาก็ไม่ได้รับอะไรนักหนาจากบริการต่างๆ ของภาครัฐบาล พวกเขาไม่ได้มีช่องทางเข้าถึงเงินทุนหรือเข้าถึงตลาดระดับโลก และผลิตภาพของพวกเขาก็ยังคงย่ำแย่มากๆ