ซุปเปอร์มาร์เก็ตของจีนที่เพิ่งเปิดใหม่ในกรุงไนโรบีของเคนยาต้องปิดตัวลงชั่วคราว หลังผู้ค้าท้องถิ่นร้องเรียนว่าถูกกลุ่มทุนจีนเข้าไปขายของ “ตัดราคา” จนอาจทำให้ธุรกิจของชาวเคนยาเองอยู่ไม่ได้
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ไชน่าสแควร์ (China Square) ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า Unicity Mall ประกาศปิดชั่วคราวตั้งแต่วันอาทิตย์ (26 ก.พ.) โดยบริษัทอ้างว่าต้องการเวลาเพื่อ “ทบทวนและกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่”
เฉิง เหล่ย (Cheng Lei) เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ ยืนยันว่าบริษัทของเขา “จะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับผู้ค้าท้องถิ่น เพื่อเพิ่มข้อเสนอและหลอมรวมกับชุมชนได้ดียิ่งขึ้น”
“เราต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และหวังว่าลูกค้าทุกท่านจะเข้าใจความจำเป็นของเรา” เฉิง กล่าว
ไชน่าสแควร์เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ม.ค. โดยจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และแม้จะได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภค แต่ผู้ค้าชาวเคนยากลับมองว่าการที่ไชน่าสแควร์ขายสินค้าในราคาถูกมากเท่ากับตัดหนทางทำมาหากินของพวกเขา
สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าของศูนย์การค้าหลายแห่งได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรองประธานาธิบดี ริกาธี กาชากัว แห่งเคนยาเพื่อขอให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง และขู่จะยกระดับการประท้วงหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ต่อมาในวันศุกร์ (24 ก.พ.) โมเสส คูเรีย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคนยา ระบุว่ากำลังพูดคุยกับมหาวิทยาลัย Kenyatta University ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า Unicity Mall เพื่อขอให้ยกเลิกสัญญาเช่ากับไชน่าสแควร์ และปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับผู้ค้ารายย่อยๆ แทน
คูเรีย ยังรับปากจะช่วยให้เจ้าของไชน่าสแควร์ตั้งฐานการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในเคนยา โดยไม่เข้ามาแข่งขันโดยตรงกับผู้ค้าท้องถิ่น
“เรายินดีต้อนรับนักลงทุนชาวจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเคนยา ไม่ใช่มาเป็นผู้ค้าเสียเอง” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เฉิง มองว่ามาตรการเช่นนี้เข้าข่าย “เลือกปฏิบัติ” และย้ำว่าธุรกิจจีนควรได้รับโอกาสประกอบกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติรายอื่นๆ
“ถ้าชาวต่างชาติรายอื่นๆ สามารถทำธุรกิจในเคนยาได้ คนจีนก็ต้องทำได้ เพราะเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ลูกค้าของเราก็แฮปปี้เพราะเราขายสินค้าราคาถูก” เฉิง ระบุ
นักธุรกิจจีนผู้นี้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Daily Nation ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่เปิดกิจการ ไชน่าสแควร์เคยมียอดขายสูงถึงวันละ 20 ล้านชิลลิงเคนยา หรือประมาณ 5.5 ล้านบาท
“พอมาช่วงหลังๆ สถานการณ์ไม่ค่อยดี ยอดขายก็ลดลงมาเหลือวันละ 10 ล้านชิลลิงเคนยา (2.7 ล้านบาท)”
เฉิง ยืนยันว่าบริษัทของเขาทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และไชน่าสแควร์ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการแข่งขันและลดการ “ผูกขาด” ด้วย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักธุรกิจจีนถูกทางการเคนยาเล่นงาน โดยเมื่อปี 2019 รัฐบาลเคนยาก็เคยเนรเทศชาวจีน 7 คนฐานลักลอบเข้ามาค้าขายผิดกฎหมายที่ตลาด 2 แห่งในกรุงไนโรบี
ที่มา: SCMP