xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! แผ่นดินไหวรุนแรง 7.6 ใต้ทะเลนอกฝั่งอินโดฯ สั่นสะเทือนไกลถึงออสเตรเลีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.6 ใต้ทะเลนอกชายฝั่งอินโดนีเซียและติมอร์ตะวันออก ในตอนเช้ามืดวันอังคาร (10 ม.ค.) จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ เบื้องต้นมีการประกาศเตือนสึนามิ ก่อนถูกยกเลิกไป และมีรายงานว่าแรงสั่นสะเทือนของมันสัมผัสได้ไกลถึงดินแดนนอร์เทิร์นเทร์รีทอรี ของออสเตรเลีย

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) ระบุว่าศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเกาะอัมบน ทางใต้ของอินโดนีเซีย 427 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ทะเล 95 กิโลเมตร

ส่วนสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์ แห่งอินโดนีเซีย รายงานตรวจพบอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายระลอก บางส่วนในนั้นวัดความรุนแรงได้ถึงระดับ 5.5

ข้อมูลของทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์ แห่งอินโดนีเซีย ระบุด้วยว่าแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวรู้สึกได้ไกลถึงหมู่เกาะติมอร์ หมู่เกาะมาลูกู และหมู่เกาะปาปัว แต่ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้เสียชีวิต

"ผมกำลังนอนหลับอยู่ แต่จู่ๆ ก็รู้สึกสั่นไหวเล็กน้อย ผมตื่นขึ้นมาและพบว่า เพื่อนของผมหลายคนก็รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเช่นกัน" ฮัมดี ชาวบ้านอินโดนีเซียบนเกาะอัมบนกล่าว

เบื้องต้น สำนักงานธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเกิดสึนามิ ก่อนยกเลิกคำเตือนในเวลาต่อมา

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวยังสามารถสัมผัสได้ไกลถึงเมืองดาร์วิน เมืองเอกของดินแดนนอร์เทิร์นเทร์รีทอรี ของออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร โดยมีประชาชนอย่างน้อย 1,000 คน รายงานการสั่นไหวดังกล่าวไปยังสำนักงานธรณีวิทยาของออสเตรเลีย

"สัมผัสได้ถึงแรงสั่นรุนแรงต่อเนื่อง ที่นี่ในดาร์วิน เมื่อกี้ดูเหมือนเพิ่งเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงทางเหนือของเรา" ผู้ใช้รายหนึ่งเขียนบนทวิตเตอร์ ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนโพสต์วิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพน้ำในแก้วและเหยือกแกว่งไปมา

อินโดนีเซียต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เนื่องจากพวกเขาตั้งอยู่บน "วงแหวนแห่งไฟแปซิฟิก" บริเวณที่ขอบแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ชนกัน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.6 ในจังหวัดชวาตะวันตก ที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นบนเกาะชวา เกาะหลักของอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 602 ราย

แผ่นดินไหวรุนแรงนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 โหมกระพือสึนามิมหาสมุทรอินเดีย ถาโถมเข้าเล่นงานอินโดนีเซีย ไกลสุดจนถึงศรีลังกา อินเดียและไทย เข่นฆ่าชีวิตผู้คนมากถึง 230,000 ราย

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น