คูเวต หนึ่งในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนที่สุดในโลก ถูกพายุลูกเห็บหายากเล่นงานเมื่อวันพุธ (28 ธ.ค.) แต่มันกลับสร้างความตื่นเต้นยินดีแก่เด็กๆ และบรรดาผู้ปกครอง ขณะที่ภาพสีขาวโพลนช่วงฤดูหนาวถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์
"เราไม่เคยพบเห็นลูกเห็บตกในฤดูหนาวหนักเท่านี้มานาน 15 ปีแล้ว" มูฮัมหมัด คาราม อดีตผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาของคูเวตให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ภาพและวิดีโอท้องถนนทางภาคใต้ของคูเวต ที่บางส่วนถูกปกคลุมด้วยลูกเห็บและน้ำแข็ง ถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ ฉลองเหตุการณ์ทางสภาพอากาศที่หายากมากในประเทศแห่งนี้
เด็กๆ สวมผ้าพันคอและเสื้อกันฝน ออกมาเล่นกอบลูกเห็บในย่านอุมม์ อัล-ไฮมาน ห่างจากกรุงคูเวตซิตี ไปทางใต้ราว 50 กิโลเมตร
กรมอุตุนิยมวิทยาของคูเวต เผยว่า ลูกเห็บที่ตกลงมาตั้งแต่วันอังคาร (27 ธ.ค.) แตะระดับสูงสุด 63 มิลลิเมตร แต่สภาพอากาศแจ่มใสแล้ว
คาราม คาดเดาว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ก่อความปั่นป่วนต่อรูปแบบสภาพอากาศ
คูเวต ชาติอ่าวเปอร์เซียที่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน เพิ่งเผชิญฤดูร้อนอันแสนสาหัสไปหมาดๆ และพวกนักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าประเทศแห่งนี้อาจจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในอนาคต สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน
ในปี 2016 อุณหภูมิช่วงฤดูร้อนในคูเวต แตะระดับสูงสุดถึง 54 องศาเซลเซียส ขณะที่สำนักงานด้านสิ่งแวดล้อม เตือนว่าหลายพื้นที่ของคูเวตจะมีอุณหภูมิร้อนขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส จากปี 2071 ถึง 2100 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง ทำให้พื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
(ที่มา : เอเอฟพี)