xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยสหรัฐฯ คาด 'จีน' จะมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเกิน ‘1 ล้านคน’ ภายในปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันชี้วัดและประเมินสุขภาพ (Institute of Health Metrics and Evaluation : IHME) ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันในสหรัฐฯ ออกมาเผยคาดการณ์ล่าสุดว่า การที่ “จีน” ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างปัจจุบันทันด่วนจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีผู้เสียชีวิตเกิน 1 ล้านคนในปี 2023

คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการ IHME อ้างผลการประเมินซึ่งระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายวันในจีนจะถึง “จุดพีก” ในราวๆ วันที่ 1 เม.ย.ปีหน้า ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในจีนจะพุ่งถึง 322,000 คน และขณะนั้นจะมีประชากรจีนที่ติดโควิดแล้วถึง 1 ใน 3

ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ได้หยุดรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต ไปตั้งแต่รัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม โดยยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการล่าสุดถูกรายงานเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา และตัวเลขรวมผู้เสียชีวิตตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดยังอยู่ที่ 5,235 คน

ปักกิ่งตัดสินใจผ่อนมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดลงในเดือนนี้ ตามหลังเหตุประท้วงใหญ่ในหลายเมืองของจีน ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือยอดผู้ป่วยโควิดในจีนกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าโควิด-19 อาจแพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า

“ไม่มีใครคิดว่าจีนจะยึดนโยบายโควิดเป็นศูนย์มาได้นานขนาดนี้” เมอร์เรย์ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (16) หลังจากที่ผลวิจัยของ IHME ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์

เขายอมรับว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์อาจมีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นเชื้อกลายพันธุ์ในช่วงแรกๆ แต่ใช้ไม่ได้ผลเมื่อเจอกับสายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

นักวิจัยของ IHME ทำการประเมินโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจากแต่ละมณฑลของจีนและข้อมูลการระบาดของเชื้อโอมิครอนในฮ่องกง นอกจากนี้ ยังใช้สถิติการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจีนแถลง รวมไปถึงการตั้งสมมติฐานว่าแต่ละมณฑลของจีนจะมีมาตรการตอบสนองอย่างไรหากอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

“เนื่องจากจีนแทบจะไม่รายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเลยหลังจากมีการระบาดที่อู่ฮั่น เราจึงต้องศึกษาข้อมูลในฮ่องกงเพื่อประเมินอัตราการเสียชีวิต" เมอร์เรย์ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคนอื่นๆ คาดการณ์ว่าชาวจีนจะติดโควิดกันถึง 60% โดยยอดผู้ป่วยรายวันจะพุ่งถึงจุดพีกในช่วงเดือน ม.ค. โดยกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับจีนก็คือประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีอยู่ค่อนข้างมาก การใช้วัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพกว่าวัคซีนของตะวันตก รวมไปถึงอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มคนอายุ 80 ปีที่ยังคงต่ำอยู่

หวง เหยียนจง (Yanzhong Huang) นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาวะสากลจากสถาบันคลังสมอง Council on Foreign Relations ในสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวจีนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงราวๆ 164 ล้านคน และยังมีคนชราที่อายุเกิน 80 ปีอีก 8 ล้านคนที่ไม่เคยเข้ารับวัคซีนเลย

หวง ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่จีนกำลังเร่งรณรงค์ให้พลเมืองเข้ารับการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ที่ผลิตในจีน ทว่ารัฐบาลยังลังเลที่จะสั่งซื้อวัคซีนของตะวันตกมาใช้

ที่มา : รอยเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น