สธ.เผยรักษา "โควิด" แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2 พันคนต่อสัปดาห์ เป็น 4 พันคนต่อสัปดาห์ เตือนปีใหม่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่ แต่ขึ้นมากหรือน้อยทุกคนช่วยได้ หากยังเข้มสวมหน้ากาก ล้างมือ วอนติดเชื้อแยกกักให้ครบ 5 วัน ลดเสี่ยงติดผู้อื่น ส่วนหนุ่มวัย 30 กว่าปีดับฉับพลัน ต้องรอสอบสาเหตุ
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกณีพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 มีจำนวนมากขึ้นว่า เมื่อผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น จึงมีโอกาสที่เชื้อไปสู่กลุ่ม 608 กลุ่มโรคร่วมได้มากขึ้น ข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ผู้มีโรคร่วมและไม่ฉีดวัคซีน โดยผู้เสียชีวิต 70% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม 50% ไม่ฉีดวัคซีนเลย 20 % ฉีดแค่ 2 เข็ม อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากมาตรการผ่อนปรนวิถีชีวิตมากขึ้น ขณะที่ผู้ติดเชื้ออาการน้อยรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอน รพ. พบมากขึ้นจากเดิมสัปดาห์ละ 2,000 คน เพิ่มเป็นเท่าตัวเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,000 คน หรือวันละ 700-800 คน ดังนั้น จึงมีโอกาสความเสี่ยงจะไปติดคนอื่นได้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจึงเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด คนที่ได้รับวัคซีนแล้วเปรียบเสมือนโรงงานผลิตภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อสู้กับเชื้อ
"สถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 รวมทุกระดับขณะนี้ใช้ไปประมาณ 35% ยังมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยอีกกว่า 60 % แต่หากสถานการณ์รุนแรงจำเป็นต้องนอน รพ.เพิ่มก็เตรียมพร้อมขยายได้ทันที" นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชย กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ช่วงปีใหม่นี้เพิ่มขึ้นแน่อน เนื่องจากอากาศเย็นลง ไม่เฉพาะโควิดแต่เชื้อไวรัสทุกตัวสามารถอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นได้นานมากขึ้น ส่งผลให้แพร่ระบาดมากขึ้น จึงต้องขอความร่วมมือผู้ป่วยที่รักษาแบบ OPD ให้กักตัวเองอย่างน้อย 5 วัน หากจำเป็นต้องออกไปภายนอกพยายามป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น โดยเฉพาะมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอนช่วงปีใหม่ แต่จะขึ้นมากหรือน้อยอยู่กับการปฏิบัติตนของทุกคน ไม่มีการปิดประเทศแน่นอน เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีน เปิดบริการวันเสาร์-อาทิตย์ หากได้รับวัคซีนช่วงนี้ก็จะป้องกันได้ทั้งช่วงปีใหม่นี้และยังมีภูมิต่อเนื่องไปได้ถึงช่วงสงกรานต์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีโรคร่วมเมื่อติดโควิดแล้วคิดว่าตัวเองอาการไม่รุนแรง จึงไม่มารพ.รักษาจะเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยรายหนึ่งที่อายุ 30 กว่าปี อยู่ในวัยทำงานถือว่าอายุยังน้อยและเสียชีวิตเฉียบพลันที่บ้าน กรมควบคุมโรคกำลังวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของรายดังกล่าว ทั้งนี้ คงต้องวิเคราะห์สาเหตุว่ามีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วยหรือไม่ กรณีที่เกิดจากโควิด อาการจะไม่เสียชีวิตทันที แต่จะมีอาการเหนื่อยหอบก่อนเพราะเชื้อไวรัสโควิดจะลงสู่ปอด แต่เชื้อไวรัสตัวอื่นบางตัวก็มีผลต่อหัวใจ จึงต้องวิเคราะห์ว่าเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนหรือจากโควิด