“ไบเดน”ลงนามประกาศใช้กฎหมายสหรัฐฯ ที่ให้การปกป้องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันทั่วอเมริกา โดยมีสักขีพยานจำนวนมากที่ไปร่วมฉลองในทำเนียบขาว ท่ามกลางกระแสคุกคามจากฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งหวังอาศัยการครองเสียงข้างมากในคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ คว่ำกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระดับรัฐ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อบ่ายวันอังคาร (13 ธ.ค.) ระหว่างพิธีลงนามกฎหมายฉบับนี้ที่ทำเนียบขาว ว่า อเมริกามีความคืบหน้าสำคัญในการมุ่สู่ความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน
หลังจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้คณะผู้พิพากษาที่มีจำนวน 9 คน มีแนวความคิดเห็นโน้มเอียงไปทางด้านอนุรักษนิยมเป็นอย่างมาก ได้ตัดสินเพิกถอนสิทธิ์การทำแท้งไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พวกสมาชิกรัฐสภาจากทั้งสองพรรคก็ได้ร่วมมือกันเพื่อป้องกันความเคลื่อนไหวๆ ใดๆ ที่จะตามมาอีก โดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดสิทธิ์การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
ร่างกฎหมายนี้ที่ได้รับการรับรองขั้นสุดท้ายจากทั้ง 2 สภาของรัฐสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สะท้อนความร่วมมือร่วมใจแบบไม่แบ่งพรรค ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งในวอชิงตันที่เต็มไปด้วยความแตกแยกร้าวลึกระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน
หลังลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย ไบเดนได้ร่วมฉลองกับสมาชิกรัฐสภาจากรีพับลิกันและเดโมแครต รวมถึงผู้สนับสนุนและผู้เรียกร้องความเท่าเทียมในการสมรสทั่วอเมริกาในสนามหญ้าทำเนียบขาว
แทมมี บัลด์วิน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯคนแรกที่เปิดเผยว่า ตนเองเป็นพวกรักร่วมเพศและมีส่วนร่วมในกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า อเมริกากำลังสร้างประวัติศาสตร์และสร้างความแตกต่างสำหรับชาวอเมริกันนับล้านๆ
แครีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวคนแรกที่เปิดเผยว่า ตนเองเป็นพวกรักร่วมเพศเช่นเดียวกัน ขานรับว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) และคู่รักต่างเชื้อชาติมีหลักประกันว่า พวกเขาและทายาทจะได้รับสิทธิ์และการปกป้อง
ทั้งนี้ นับจากศาลสูงสุดได้ตัดสินคดีซึ่งเป็นการรับรองให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2015 มีคู่รักเพศเดียวกันจูงมือวิวาห์แล้วนับแสนคู่
นอกจากนั้น สังคมอเมริกันยังมีแนวโน้มให้การยอมรับเรื่องนี้มากขึ้นตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มสิทธิด้านศาสนาบางส่วนยังคงต่อต้านเรื่องนี้
รัฐบัญญัติการเคารพต่อการสมรสฉบับนี้ ไม่ได้บังคับให้รัฐต่างๆ ต้องอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กำหนดให้ทุกรัฐรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ตราบเท่าที่บุคคลเหล่านั้นกระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายในรัฐที่พวกเขาพำนักอาศัยอยู่
กฎหมายใหม่นี้ ยังเป็นการล้มเลิกกฎหมายเดิมที่กำหนดว่าการแต่งงานต้องเกิดขึ้นระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น รวมทั้งยังปกป้องคู่รักต่างเชื้อชาติด้วยการกำหนดให้รัฐต่างๆ รับรองการแต่งงานที่กระทำถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือสัญชาติ
ทั้งนี้ ในสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.รีพับลิกัน 39 คนเห็นพ้องกับสมาชิกเดโมแครตที่ยังครองเสียงข้างมากอยู่จนกว่าจะหมดวาระในสิ้นปีนี้ ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ขณะที่ ส.ส.รีพับลิกัน 169 คนคัดค้าน ส่วนในวุฒิสภานั้นร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุน 61 ต่อ 36 เสียง
ฌอง-ปิแอร์ ยังทบทวนความหลังว่า ไบเดนเป็นผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลคนแรกๆ ที่ประกาศสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันซึ่งสร้างความประหลาดใจไปทั่ว
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2012 ตอนที่ไบเดนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ขณะที่บารัค โอบามา ประธานาธิบดีในขณะนั้น ยังไม่ได้ประกาศจุดยืนเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมการลงสมัครสมัยที่สอง
กระนั้น สามวันต่อมาหลังไบเดนประกาศความเห็นองตนอย่างชัดเจน โอบามาก็ประกาศให้การสนับสนุนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้หลังจากไบเดนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2020 เขาเลือก พีต บุตติเจจ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม ถือเป็นผู้ที่ประกาศตนเป็นเกย์คนแรกที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาให้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ไบเดนยังล้มล้างความพยายามของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการทำให้คนข้ามเพศไม่ได้รับการปกป้อง จากพวกกฎหมายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตื่นเต้นของกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิ์การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายอนุรักษนิยมในประเด็นทางเพศในระดับรัฐทั่วอเมริกา
ไบเดนวิจารณ์กฎหมายในหลายรัฐที่ไม่สนใจใยดีและเหยียดหยามเด็กข้ามเพศ ซึ่งสร้างความหวาดหวั่นให้พ่อแม่ และทำให้แพทย์ที่ให้การดูแลรักษาตามความต้องการของเด็กเหล่านี้มีความผิดทางอาญา
(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)