อดีตตำรวจ 2 นายถูกจับกุมในเกาหลีใต้เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ตามข้อกล่าวหาทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุโศกนาฏกรรมเบียดเสียดกันตายหลายร้อยศพระหว่างฉลองเทศกาลวันฮาโลวีน ในกรุงโซล เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม
พัค ซุง-มิน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งสำนักงานบริหารกรุงโซล และคิม จิน-โฮ แห่งตำรวจยองซาน เป็นตำรวจชุดแรกที่อยู่ภายใต้การสืบสวนเหตุโศกนาฏกรรมในเดือนตุลาคม ซึ่งเข่นคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวมากถึง 158 ราย
พวกเขาถูกกล่าวหาว่าออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำลายหลักฐานรายงานในเบื้องต้น ซึ่งระบุเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ อันมีบ่อเกิดจากการรวมตัวของฝูงชนจำนวนมากในย่านอิแทวอน ระหว่างเทศกาลวันฮาโลวีน
เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 นายถูกไล่ออกจากหน้าที่การงานไปก่อนหน้าแล้วในเดือนพศจิกายน ต่อแนวทางการรับมือกับเหตุโศกนาฏรรมอิแทวอน และภายใต้เงื่อนไขของหมายจับที่ออกโดยศาลแห่งหนึ่งในกรุงโซลเมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) เวลานี้อัยการมีเวลา 10 วันสำหรับยื่นฟ้องเอาผิดกับพวกเขา
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เป็นคนหนุ่มสาวและวันรุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดานักเที่ยวหลายหมื่นคนที่ไหลบ่ากันไปยังย่ายอิแทวอนของกรุงโซล เพื่อฉลองเทศกาลฮาโลวีน จำนวนมากในนั้นไปติดแหง็กอยู่ในตรอกแคบๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งพวกผู้รอดชีวิตและผู้เห็นเหตุการณ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พบเห็นตำรวจประจำการรักษาความปลอดภัยแค่เล็กน้อย และหน่วยควบคุมฝูงชนมาถึงจุดเกิดเหตุล่าช้าเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ศาลปฏิเสธออกหมายจับ ลี อิม-แจ อดีตนายตำรวจยองซาน ซึ่งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจ และซง บยุง-โจ อดีตเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉิน หลังจากก่อนหน้านี้ทั้งคู่ถูกต้องสงสัยว่าเพิกเฉยและขาดความเป็นมืออาชีพในความเกี่ยวข้องกับเหตุฝูงชนเบียดเสียดเหยียบกันจนขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ในการปฏิเสธออกหมายจับ ศาลอ้างอิงความเป็นไปได้ระดับต่ำที่ ลี และ ซง จะทำลายหลักฐานหรือหลบหนี โดยที่เวลานี้พวกเขาอยู่ภายใต้การสืบสวน
หลังเกิดโศกนาฏกรรม ได้มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจพิเศษขึ้นมาตรวจสอบสืบสวนความบกพร่องต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ทำการจู่โจมตรวจค้นสถานีตำรวจและสำนักงานต่างๆ ทั่วเมืองหลวง รวบรวมรายงานภายในของตำรวจและบันทึกสายโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน
ในบันทึกแจ้งเหตุฉุกเฉิน พบว่ามีผู้หวังดีโทรศัพท์แจ้งสายด่วนฉุกเฉินอย่างน้อย 11 สาย ซึ่งแต่ละสายบ่งชี้ถึงความเร่งด่วนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสายแรกร้องขอตำรวจส่งกองกำลังควบคุมฝูงชนไปยังที่เกิดเหตุ ตามด้วยหน่วยกู้ภัย ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินสายแรกๆ มีขึ้นก่อนเกิดโศกนาฏกรรมถึง 4 ชั่วโมง
นับตั้งแต่นั้นเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติก็เผชิญเสียงขุ่นเคืองจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องขอความรับผิดชอบ และบางส่วนถึงขึ้นเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล ลาออกจากตำแหน่ง รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
"ฉันร้องขอพวกนักการเมืองของประเทศนี้ ถ้าคุณจริงจังกับความเจ็บปวดของผู้สูญเสีย คุณจำเป็นต้องจริงจังมากกว่านี้ คุณจำเป็นต้องทำการสืบสวนอย่างเหมาะสมและขอโทษเด็กๆ ของเรา" คุณแม่ของเหยื่อวัย 29 ปีรายหนึ่งกล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน โดยเธออ้างว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของลูกชาย รวมถึงเวลาและสถานที่ยังคงไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ พวกผู้ปกครองผู้สูญเสียอื่นๆ ต่างเล่าถึงความยากลำบากในกระบวนการต่างๆ ในนั้นรวมถึงบิดารายหนึ่งซึ่งอ้างว่ารัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนครอบครัวผู้สูญเสียเพียงพอ
เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว เจ้าหน้าที่รายหนึ่งจากทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า จะมีการสืบสวนอย่างละเอียด และรัฐบาลกำลังมอบเงินชดเชยและสิ่งปลอบโยนเพิ่มเติม "หากขอบเขตความรับผิดชอบและผู้กระทำผิดทางกฎหมายผ่านการตรวจสอบสืบสวนอย่างชัดเจนแล้ว"
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)