พวกอาชญากรในฟินแลนด์ ครอบครองอาวุธบางส่วนที่ตะวันตกมอบให้แก่ยูเครน ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย จากการเปิดเผยของสำนักงานสืบสวนสอบสวนแห่งชาติฟินแลนด์ (เอ็นบีไอ) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเดียวกันในหลายชาติสมาชิกอียูอีกด้วย
"เราพบเห็นสัญญาณต่างๆ ว่าอาวุธเหล่านี้พบช่องทางเข้ามายังฟินแลนด์แล้ว" คริสเตอร์ อาห์ลเกรน หัวหน้าฝ่ายสืบสวนกลุ่มงานอาชญากรรมสำนักงานตำรวจแห่งฟินแลนด์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ (30 ต.ค.)
อาห์ลเกรน เผยว่า ปืนไรเฟิลจู่โจมเป็นหนึ่งในอาวุธเหล่านั้น แต่ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาวุธที่ลักลอบเข้ามาในฟินแลนด์ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการสืบสวน โดยเขากล่าวเพียงว่า ทางการเชื่อว่าการลักลอบขนอาวุธเถื่อนนี้มีแก๊งจักรยานยนต์อยู่เบื้องหลัง
หัวหน้าฝ่ายสืบสวนรายนี้เผยต่อว่า พวกอาชญากรได้ลงมือจัดทำเส้นทางการลักลอบลำเลียงอาวุธจากยูเครนมายังฟินแลนด์ "มีแก๊งจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก 3 แก๊ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่กว่า เคลื่อนไหวในฟินแลนด์ หนึ่งในนั้นคือแก๊ง Bandidos MC ซึ่งจะมีกลุ่มอยู่ในทุกๆ เมืองใหญ่ของยูเครน"
"องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้มีเครือข่ายของพวกเขาตามท่าเรือพาณิชย์ของฟินแลนด์" อาห์ลเกรน ระบุ พร้อมบอกว่าการตรวจตราด้านความมั่นคงที่บังคับใช้กับพนักงานของสนามบิน ไม่ได้ครอบคลุมถึงพวกคนงานตามท่าเรือต่างๆ
ฟินแลนด์ไม่ได้เป็นชาติสมาชิกอียูเพียงประเทศเดียวที่เจอปัญหาลักษณะดังกล่าว ในขณะที่อาวุธที่ขนส่งไปยังยูเครน ถูกพบในสวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์เช่นกัน "ยูเครนได้รับอาวุธปริมาณมหาศาล นั่นเป็นเรื่องดี แต่เรากำลังต้องจัดการกับอาวุธเหล่านี้ไปอีกหลายทศวรรษ และเราต้องเป็นฝ่ายรับเคราะห์" อาห์ลเกรน กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่ออาวุธที่อเมริกามอบให้แก่ยูเครน ย้อนกลับไปในตอนนั้น ออสตินเผยว่าเขาได้พูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับบรรดาเจ้าหน้าที่ยูเครน และทางเคียฟให้คำรับประกันว่าจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน สำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป (ยูโรโพล) เตือนว่าความขัดแย้งยูเครนอาจทำให้มีการลักลอบขนอาวุธและกระสุนเข้ามาในอียูเพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ของรัสเซีย พบว่าอาวุธต่างๆ ที่ตะวันตกมอบให้ยูเครน กำลังถูกวางขายในตลาดมืด
รัสเซียวิพากษ์วิจารณ์มาช้านานต่อการมอบอาวุธแก่เคียฟของสหรัฐฯ อียู สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ บางส่วน โดยชี้ว่ามันรังแต่จะทำให้สงครามลากยาวออกไป และเพิ่มความเสี่ยงเกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างรัสเซียกับนาโต้
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)