โรงเรียนต่างๆ ทั่วอังกฤษเกือบ 9 ใน 10 แห่ง เงินที่มีอยู่จะร่อยหรอไปหมดในช่วงปีการศึกษาหน้า หลังจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหึมา ท่ามกลางบิลค่าพลังงานที่พุ่งสูง เช่นเดียวกับเงินเดือนของบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน
ข้อมูลเบื้องต้นจากสมาคมครูใหญ่แห่งชาติ พบว่า 50% ของครูใหญ่บอกว่าโรงเรียนของพวกเขาจะประสบปัญหาขาดทุนในปีนี้ และทั้งหมดคาดหมายว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนกันยายนปีหน้า ครั้งที่เงินสดสำรองของพวกเขาหมดลง
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีคลัง แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าทุกกระทรวง ในนั้นรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ คาดหมายไว้เลยว่าจะต้องถูกปรับลดงบประมาณ ส่วนหนึ่งในแผนลดหนี้ของทางรัฐบาล ที่เตรียมแถลงออกมาในวันที่ 31 ตุลาคมนี้
บรรดาครูใหญ่ และหัวหน้าสถานศึกษาทั้งหลายต่างกล่าวเตือนว่า การปรับลดงบประมาณเพิ่มเติมจะผลักให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจำนวนมากยืนอยู่ปากเหว และผลก็คือโรงเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับลดการเรียนการสอนที่จำเป็น และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน
"มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข" พอล วิทแมน เลขาธิการสมาคมครูใหญ่แห่งชาติกล่าว "โรงเรียนต่างๆ ต้องปรับลดงบประมาณลงอย่างมากจนเหลือแต่กระดูก มันจะหมายถึงการปรับลดชั่วโมงการสอน จำนวนผู้ช่วยสอนและครู"
สาธุคุณสตีฟ คลาร์ก แห่งมูลนิธิโอเอซิส ซึ่งบริหารงานสถาบันการศึกษา 52 แห่งในอังกฤษ กล่าวว่า "ด้วยอัตราการผลาญเงินทุนระดับนี้ ภายในเวลา 3 ปี เราจะล้มสะลาย ไม่มีใครอยู่ในสถานะที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากต้องผลาญเงินสำรองเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน" คลาร์กกล่าว พร้อมเผยว่าค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเครือข่ายของเขาพุ่งขึ้นจาก 26,000 ปอนด์ต่อปี (1.1ล้านบาท) เป็น 89,000 ปอนด์ต่อปี (3.7ล้านบาท) แม้มีมาตรการควบคุมเพดานราคาพลังงานเป็นเวลา 6 เดือนก็ตาม
ทางมูลนิธิยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษอีก 4.5 ล้านปอนด์ จากการปรับเพิ่มค่าจ้างแก่คณะครู ซึ่งเพิ่งแถลงหลังวางกรอบงบประมาณของสถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา การปรับเพิ่มค่าจ้าง 5% แก่ครูเกือบทุกคน แม้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน ถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่ง ทว่าอีกด้านหนึ่งมันทำให้สถาบันการศึกษาทั้งหลายต้องอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เพราะมันเกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีเงินใหม่ๆ ป้อนเข้ามา
โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า "เราตระหนักดีกว่าบรรดาโรงเรียนทั้งหลายกำลังเผชิญแรงกดดันทางต้นทุน เนื่องจากเหตุการณ์ระหว่างประเทศผลักราคาพลังงานพุ่งสูง" เธอกล่าว พร้อมระบุว่า นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางพลังงาน สถาบันการศึกษาต่างๆ จะได้รับเงินทุนหลัก 53,800 ล้านปอนด์ในปีนี้ "ซึ่งในนั้นรวมถึงเงินสดที่เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านปอนด์"
อย่างไรก็ตาม ทางจอนนี อัตต์ลีย์ ซีอีโอขององค์กรการศึกษา Education Alliance ซึ่งบริการงานโรงเรียน 7 แห่งฮัลล์ และอีสต์ยอร์คเชียร์ กล่าวว่า "ผมรู้จักซีอีโอรายหนึ่งของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ เขาบอกว่าหลังจากปรับขึ้นค่าจ้างครู พวกเขาไม่สามารถคิดถึงปีหน้าได้จนกว่าจะมีเงินพิเศษเพิ่มเติมเข้ามา"
เวลานี้องค์กรของ อัตต์ลีย์ กำลังใช้เงินสำรองสำหรับชำระค่าพลังงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงจ่ายค่าจ้าง แต่เขาบอกว่า "มันมาถึงจุดที่เราหมดเงินแล้ว"
แกรี แรทคลิฟฟ์ ซีอีโอของ Galaxy Trust ซึ่งบริหารงานโรงเรียนประถม 3 แห่งในดาร์ทฟอร์ด กล่าวว่า องค์กรของเขาจะอยู่รอดในปีนี้ แต่ปีหน้า "จะเป็นปีที่สาหัสมากๆ หากมีการแถลงแบบที่ไม่ได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวมาก่อนแบบนี้อีก" พร้อมเตือนว่าเค้ารางวิกฤตเงินทุนคืบคลานเข้ามาแล้ว
องค์กรของแรทคลิฟฟ์ ใช้เงินทุนเพิ่มเติมไปในด้านสนับสนุนสุขภาพจิตแก่เด็กๆ และบรรดาเจ้าหน้าที่ที่กำลังเผชิญความยาลำบากในวิกฤตค่าครองชีพ สถาบันการศึกษาแห่งนี้มอบอาหารช่วยเหลือครอบครัวผู้ขัดสนเป็นประจำ เช่นเดียวกับช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองรับสิทธิประโยชน์พิเศษ หรือรับมือกับค่าเช่าบ้านที่พุ่งสูง
ลีโอรา ครูดดาส ซีดีโอของ Confederation of School Trusts กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ไม่แน่นอน แต่ปีหน้าดูเหมือนจะเป็นปีที่ยากลำบากอย่างแท้จริง "หลายองค์กรการศึกษากำลังใช้เงินสำรองของพวกเขาบางส่วนหรือทั้งหมด แต่เงินสำรองสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงในประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน การศึกษาของรัฐต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างพอเพียงจากภาครัฐ"
(ที่มา : ดิออฟเซอร์เวอร์)