xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปป่วน!! ‘อิตาลี’ จ่อได้นายกฯ ที่เป็นผู้นำขวาจัด ขณะเงินปอนด์ทำนิวโลว์เพราะผวาแผนเศรษฐกิจใหม่ ‘อังกฤษ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จอร์เจีย เมโลนี ผู้นำของพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี ที่มีแนวทางขวาจัด ชูแผ่นป้ายเขียนข้อความภาษาอิตาลีว่า “ขอบคุณ อิตาลี” หลังจากกล่าวปราศรัยที่กองบัญชาการรณรงค์หาเสียงของพรรค ในกรุงโรม เมื่อช่วงย่างเข้าเช้าวันจันทร์ (26 ก.ย.) ขณะที่ผลการนับคะแนนเลือกตั้งซึ่งเกือบเสร็จสิ้นแล้วชี้ว่า เธอน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ยุโรปปั่นป่วน ผลการนับคะแนนเลือกตั้งในอิตาลีที่ใกล้เสร็จสิ้นเมื่อวันจันทร์ (26 ก.ย.) ส่อเค้าว่า จอร์เจีย เมโลนี ผู้นำของพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี ซึ่งมีแนวทางขวาจัดและรากเหง้ามาจากพวกนีโอฟาสซิสต์ จ่อคว้าชัยได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี ขณะที่ในอังกฤษ ค่าเงินปอนด์ดำดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี จนอัตราแลกเปลี่ยนใกล้จะถึงระดับ 1 ปอนด์แลกได้เพียง 1 ดอลลาร์อเมริกันแล้ว สืบเนื่องจากพวกนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนพากันกังวลกับร่างงบประมาณพิเศษฉบับใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ซึ่งเน้นการลดภาษีครั้งใหญ่ และการกู้ยืมเงินอย่างมโหฬาร

ผลการนับคะแนนที่ใกล้ลุล่วงของการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลีซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (25) ปรากฏว่ากลุ่มพันธมิตรของพวกฝ่ายขวากวาดคะแนนเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง ซึ่งอาจทำให้การเมืองของประเทศนี้มีเสถียรภาพแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลายปี รวมทั้งยังเป็นครั้งแรกนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อิตาลีจะได้รัฐบาลที่นำโดยพรรคแนวทางขวาจัด

“จอร์เจีย เมโลนี คว้าชัย” คอร์เรียร์ เดลลา เซรา หนังสือพิมพ์ที่มียอดตีพิมพ์สูงสุดในอิตาลีพาดหัวเอาไว้ที่หน้าหนึ่งในฉบับวันจันทร์ (26)

อย่างไรก็ดี คาดกันว่า เมโลนีและพันธมิตรของเธอจะต้องเผชิญความท้าทายมากมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องราคาพลังงานพุ่งโด่ง สงครามในยูเครน และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เมโลนี วัย 45 ปี ประกาศกับพวกผู้สนับสนุนพรรคของเธอตอนเช้าวันจันทร์ว่า ประชาชนต้องจดจำว่า อิตาลีอยู่ที่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุด และต้องพิสูจน์คุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์นับจากพรุ่งนี้เป็นต้นไป

ประเทศต่างๆ ในยุโรปและตลาดการเงินพากันจับตาความเคลื่อนไหวของเมโลนี อย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ระแวงสงสัยและคัดค้านสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งมีจุดยืนที่สับสนในประเด็นการคัดค้านรัสเซียที่รุกรานยูเครน

แต่ในการปราศรัยประกาศชัยชนะของเธอ เมโลนีดูมีท่าทีประนีประนอมโดยบอกว่า จะเป็นผู้นำรัฐบาลเพื่อชาวอิตาลีทุกคน และมุ่งเน้นสิ่งที่ทำให้ประชาชนสามัคคีกัน ไม่ใช่สร้างความแตกแยก

จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปกว่า 90% ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด พรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี นำเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนกว่า 26% จากที่เคยได้เพียง 4% ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วเมื่อปี 2018 โดยวิเคราะห์กันว่าเนื่องจากพวกผู้ออกเสียงตัดสินใจให้โอกาสพรรคที่ไม่เคยเป็นรัฐบาล เข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ อันมากมายของประเทศ

ในทางกลับกัน พรรคสำคัญภายในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายขวา คือ พรรคสันนิบาตของ มัตเตโอ ซัลวินี ได้คะแนนแค่ 9% จากที่เคยได้กว่า 17% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยเสียคะแนนในเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรคในภาคเหนือให้แก่พรรคของเมโลนี

สำหรับพรรคอนุรักษนิยมสำคัญอีกพรรคคือ ฟอร์ซา อิตาเลีย ของซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี ได้คะแนนราว 8%

แม้คาดหมายกันว่า กลุ่มพันธมิตรฝ่ายขวาที่นำโดนเมโลนี จะได้เสียงข้างมากในระดับที่วางใจได้ทั้งในสภาสูงและสภาล่าง แต่ภายในกลุ่มพันธมิตรกลับดูจะมีจุดยืนขัดแย้งกันในหลายประเด็นชนิดยากที่จะประนีประนอม เช่น วิธีจัดการปัญหาราคาพลังงานพุ่ง นอกจากนี้ ยังมีการให้คำมั่นหลายอย่างที่รวมถึงการลดภาษีและการปฏิรูประบบบำนาญซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

ในอีกด้านหนึ่ง ที่อังกฤษเมื่อวันจันทร์ (26) ปรากฏว่าค่าเงินปอนด์อ่อนลงจนอยู่ระดับต่ำกว่า 1.10 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับจากปี 1985 โดยอยู่ที่ 1 ปอนด์แลกได้เพียง 1.0350 ดอลลาร์ในการซื้อขายในตลาดเอเชีย สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ ภายหลัง ควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ประกาศว่าต้องการที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้แผนลดภาษีครั้งใหญ่ พร้อมอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือครัวเรือนที่ต้องเผชิญค่าพลังงานพุ่ง แต่ทั้งนี้จะต้องมีการกู้เงินก้อนมหึมาเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายเหล่านี้ได้

งบประมาณพิเศษที่ขุนคลังคนใหม่ประกาศเมื่อวันศุกร์ (23) ซึ่งประกอบด้วยการลดภาษีกันอย่างมหึมา และการกู้ยืมเงิน 72,000 ล้านปอนด์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการกู้ยืมครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลอังกฤษนับจากปี 1972 นั้น ออกมาในขณะที่อังกฤษเผชิญภาวะเงินเฟ้อในอัตราเลข 2 หลัก ส่วนยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่กว่า 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นอกจากนั้น พวกนักวิจารณ์ยังโจมตีว่า มาตรการเช่นนี้ของรัฐบาลเอื้อประโยชน์แก่คนรวยมากกว่า ขณะที่ประชาชนทั่วไปเผชิญวิกฤตค่าครองชีพ

พวกนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนยังลงความเห็นว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ที่เข้าบริหารประเทศไม่ทันถึง 3 สัปดาห์ สูญเสียความน่าเชื่อถือทางการเงิน จากการเปิดเผยแผนการงบประมาณพิเศษล่าสุด หนึ่งวันหลังจากธนาคารกลางอังกฤษเพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น