บรรดาผู้นำและสมาชิกราชวงศ์จากทั่วโลกร่วมถวายอำลาควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นครั้งสุดท้ายในงานรัฐพิธีพระบรมศพที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในกรุงลอนดอนเมื่อวันจันทร์ (19 ก.ย.) โดยมีพสกนิกรผู้จงรักภักดีนับแสนเฝ้ารอรับขบวนพระบรมศพเต็มสองข้างทาง และคาดว่า ผู้คนอีกนับล้านทั่วโลกเฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดทางทีวีและสื่อออนไลน์
การเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ อาคารเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ของกรุงลอนดอน สิ้นสุดลงในเวลา 6.30 น. (12.30 น.เวลาไทย) ของวันจันทร์ (19) หลังจากประชาชนนับแสนๆ อดทนเข้าคิวรอถวายความอาลัยนานหลายชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 4 วันก่อนหน้านั้น
พสกนิกรทั้งหลายต่างต้องการแสดงความขอบคุณต่อควีนเอลิซาเบธที่ทรงครองราชบัลลังก์อังกฤษยาวนานถึง 7 ทศวรรษ
เช่นเดียวกับผู้คนมากมายทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกาที่กล่าวว่า “พวกคุณและเราทุกคนต่างโชคดีที่มีสมเด็จพระราชินีนาถตลอด 70 ปีที่ผ่านมา”
ก่อนเวลา 11.00 น. เล็กน้อย หีบพระบรมศพที่ทำจากไม้โอ๊ค คลุมด้วยธงรอยัลสแตนดาร์ดโดยมีมงกุฎอิมพีเรียลสเตทวางอยู่ด้านบน ได้รับการเคลื่อนย้ายด้วยรถปืนใหญ่เกียรติยศโดยมีบรรดาทหารเรือเป็นผู้ลากจูง มุ่งหน้าไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ครั้งหลังสุดที่อังกฤษมีการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธี คือ พิธีศพของวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1965
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธและกษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ เสด็จพระราชดำเนินตามรถปืนใหญ่อัญเชิญพระบรมศพ โดยที่มีพระบรมวงศ์อื่นๆ ร่วมโดยเสร็จ ท่ามกลางเสียงระฆังจากหอระฆังเทเนอร์ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่จะลั่นระฆังทุก 1 นาที รวม 96 ครั้ง ขณะที่ผู้คนนับแสนๆ เฝ้ารอรับขบวนพระบรมศพเต็มสองข้างทาง และคาดว่า ผู้คนอีกนับล้านเฝ้ารอชมการถ่ายทอดพระราชพิธีอยู่ที่บ้าน โดยที่ทางการอังกฤษประกาศให้วันจันทร์เป็นวันหยุดราชการ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อังกฤษถ่ายทอดสดพระราชพิธีศพ
ในบรรดาผู้เข้าร่วมพระราชพิธีศพ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ประมาณ 2,000 คนนั้น ประกอบด้วยผู้นำจากทั่วโลกราว 500 คน ซึ่งก็รวมถึงไบเดน สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งญี่ปุ่น รองประธานาธิบดีหวัง ฉีซานของจีน และประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซาแห่งแอฟริกาใต้
เจ้าชายจอร์จ พระชนมายุ 9 พรรษา และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระชนมายุ 7 พรรษา พระโอรสและพระธิดาองค์โตของเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทพระองค์ใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ เสด็จร่วมพระราชพิธีพระบรมศพพระปัยยิกา (ย่าทวด) เช่นเดียวกัน
นอกจากบุคคลสำคัญและผู้ทรงเกียรติทั้งหลายแล้ว ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพยังรวมถึงนายทหารระดับสูงและผู้รับเหรียญกล้าหาญ ตัวแทนจากมูลนิธิในพระบรมราชินูปถัมภ์ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธ และผู้ที่มีส่วนสนับสนุนพิเศษในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19
เดวิด ฮอยล์ อธิการแห่งเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้นำประกอบพิธีทางศาสนา ได้กล่าวสดุดีพระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจตลอดช่วงเวลากว่า 70 ปี ของการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
ทั้งนี้ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แห่งนี้ เคยเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ
พระราชพิธีพระบรมศพจบลงด้วยการเป่าแตรนอน “The Last Post” ตามมาด้วยการยืนสงบนิ่งถวายความอาลัยนาน 2 นาทีทั้งภายในมหาวิหารและทั่วทั้งอังกฤษ
หลังจากนั้น หีบพระศพได้รับการเคลื่อนย้ายโดยขบวนรถม้าพระที่นั่งผ่านกลางกรุงลอนดอนและพระราชวังบัคกิ้งแฮม โดยมีพระบรมวงศ์ทรงพระดำเนินตามหีบพระบรมศพ เพื่อไปยังประตูชัยเวลลิงตันที่ไฮปาร์คคอร์เนอร์
ต่อจากนั้นรถบรรทุกพระบรมศพมุ่งหน้าไปยังโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองทางตะวันตกของลอนดอนเพื่อประกอบพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมศพ และก่อนเพลงสวดสุดท้าย โดยที่เจ้าพนักงานผู้สวมมงกุฎจะนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งมงกุฎ ลูกโลกประดับกางเขน และคทา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและธรรมาภิบาลของกษัตริย์ ที่วางอยู่บนหีบพระบรมศพมาวางไว้ที่แท่นบูชา
หลังจากนั้นหีบพระบรมศพของพระราชินีเอลิซาเบธจะถูกหย่อนลงในที่เก็บพระบรมศพของพระราชวงศ์ใต้พื้นโบสถ์ จากนั้น จัสติน เวลบี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบรี จะประกาศพร ตามด้วยการร้องเพลง “God Save the King”
สำหรับพิธีฝังพระบรมศพ ซึ่งจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์เฉพาะพระบรมวงศ์ กำหนดเริ่มต้นในเวลา 19.30 น. โดยคณบดีแห่งวินด์เซอร์เป็นผู้นำประกอบพิธี และพระบรมศพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธจะฝังเคียงข้างเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีผู้ล่วงลับ ที่อนุสรณ์สถานพระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งยังเป็นที่ประดิษฐานหีบพระบรมศพพระราชบิดา พระราชมารดา และเจ้าหญิงมาการ์เร็ต พระขนิษฐาของพระราชินีนาถเอลิซาเบธด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อค่ำวันอาทิตย์ (18) พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสว่า พระองค์และพระราชินีคามิลลา พระมเหสี ทรงซาบซึ้งกับการปลอบประโลมและการสนับสนุนของเหล่าพสกนิกรตลอดช่วง 10 วันที่ผ่านมา
“ขณะที่เราทั้งหมดกำลังเตรียมถวายอำลาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเป็นครั้งสุดท้าย ข้าพเจ้าใคร่ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่าน”
ทั้งนี้ พระราชินีนาถเอลิซาเบธ ซึ่งถือเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในอังกฤษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมา ณ พระตำหนักฤดูร้อนบาลมอรัลในสก็อตแลนด์
พระพลานามัยของพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเสื่อมถอยลง และตลอดหลายเดือนก่อนหน้านี้ทรงงดพระราชกรณียกิจเกือบทั้งหมด แม้ว่า 2 วันก่อนสวรรคตได้ทรงแต่งตั้งลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ในรัชสมัยของพระองค์ก็ตาม
พระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1952 และทรงเป็นพระมหากษัตริย์หลังยุคจักรวรรดินิยมพระองค์แรกของอังกฤษ ซึ่งเป็นยุคที่อังกฤษพยายามสร้างสถานะใหม่ในโลก นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญในเครือจักรภพแห่งประชาชาติที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่นานและปัจจุบันประกอบด้วย 56 ประเทศ
ตอนที่ทรงสืบราชบัลลังก์จากพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระองค์ และโจเซฟ สตาลิน เป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ควีนเอลิซาเบธทรงได้พบกับบุคคลสำคัญจากแวดวงการเมืองจนถึงบันเทิงและกีฬา ซึ่งรวมถึงเนลสัน แมนเดลา, พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2, เดอะ บีทเทิลส์, มาริลีน มอนโร, เปเล่ และโรเจอร์ เฟเดอเรอร์
พระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงได้รับการยกย่องจากทั่วโลกตั้งแต่ปารีส วอชิงตัน มอสโกจนถึงปักกิ่ง และพระราชพิธีพระบรมศพยังเป็นที่สนใจติดตามในบราซิล จอร์แดน คิวบา และอีกหลายประเทศที่พระองค์ทรงมีความเชื่อมโยงโดยตรงน้อยมาก
แอนโทนี เซลดอน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ระบุว่า พระราชินีนาถเอลิซาเบธเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักและจดจำได้มากที่สุดในโลก ถูกฉายพระรูปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และการที่ผู้นำทั่วโลกพร้อมใจเดินทางไปร่วมพระราชพิธีพระบรมศพในลอนดอนเป็นประจักษ์พยานยืนยันสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)