เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ปฏิเสธคำประเมินของทำเนียบขาว ที่อ้างว่าเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานในประเทศ ส่วนใหญ่แล้วมีแรงขับเคลื่อนจากวิกฤตยูเครน โดยระหว่างให้ปากคำต่อวุฒิสภาเมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) เขาชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาพุ่งสูงอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนหน้ารัสเซียปฏิบัติการทางทหารโจมตีชาติเพื่อนบ้าน
ความเห็นของดังกล่าวของ พาวเวล เป็นการตอบคำถามของ บิลล์ ฮาเกอร์ตี วุฒิสมาชิกจากเทนเนสซี โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ รายนี้ บอกว่าสถานการณ์ด้านราคาในสหรัฐฯ ถูกขับเคลื่อนด้วยหลายปัจจัย ในนั้นรวมถึงปัญหาความวุ่นวายทางอุปทาน ข้อบังคับต่างๆ ที่จำกัดอุปทาน และการใช้จ่ายทางการคลังที่เลยเถิดเกินไป
เมื่อถูกถามว่าเขาเห็นด้วยกับรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนหรือไม่ ในกรณีที่ระบุว่าสถานการณ์ในยูเครนคือปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากพลวัตอัตราเงินเฟ้อในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา "ไม่ อัตราเงินเฟ้อดีดตัวสูงตั้งแต่ก่อนสงครามในยูเครนปะทุขึ้นแล้ว" ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าว
นับตั้งแต่รัสเซียโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำเนียบขาวกล่าวโทษซ้ำๆ ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย คือต้นตอของภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ โดยถึงขั้นให้คำจำกัดความว่า "การขึ้นราคาของปูติน"
เจน ซากิ ที่ตอนนั้นยังเป็นเลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของเทียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวในช่วงปลายเดือนเมษายนว่า "เรารู้ว่า 61% ของเงินเฟ้อเมื่อเร็วๆ นี้ ขับเคลื่อนโดยราคาพลังงานจากการรุกรานยูเครนของปูติน"
เมื่อวันอาทิตย์ (19 มิ.ย.) ทำเนียบขาวทวีตข้อความเน้นย้ำอีกรอบว่า "สถานการณ์ในยูเครนคือตัวขับเคลื่อนใหญ่หลวงที่สุดหนึ่งเดียวของภาวะเงินเฟ้อในประเทศ" อย่างไรก็ตาม ทางวุฒิสมาชิก ฮาเกอร์ตี ระบุว่ามันเป็นคำกล่าวอ้างที่ "บิดเบือน" และกล่าวว่ามันเป็นความพยายามเบี่ยงเบนความผิด
ในเวลาต่อมา เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ถูกสอบถามเกี่ยวกับคำตอบของ พาวเวล ระหว่างแถลงข่าว และแก้ต่างว่า "คนส่วนใหญ่มักพูดว่าราคาเชื้อเพลิงซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ" อ้างว่าสงครามในยูเครนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากอุปทานเหือดหายไป
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)