กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เมื่อคืนวันพุธ (15 มิ.ย.) ส่งหนังสือเชิญบรรดาผู้บริหารในอุตสาหกรรมน้ำมันพบปะพูดคุยในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่าหนังสือที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขียนเมื่อวันอังคาร (14 มิ.ย.) เป็นคำเชิญบริษัทในภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน 7 แห่งเข้าหารือ ในนั้นประกอบไปด้วย มาราธอน ปิโตรเลียม วาเลโร เอเนอร์จี เอ็กซอน โมบิล ฟิลลิปส์ 66 เชฟรอฟ บีพี และเชลล์
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารูปแบบการหารือครั้งนี้จะเป็นในลักษณะใด เช่นเดียวกับวันเวลาที่แน่ชัดของการประชุม โดยทางซีเอ็นเอ็นพยายามติดต่อสอบถาม แต่ทางตัวแทนรายหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมยังไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
ในหนังสือเมื่อวันอังคาร (14 มิ.ย.) ไบเดน เรียกร้องบรรดาบริษัทน้ำมันยกระดับอุปทานเบนซิน และประณามการโกยกำไรสูงลิ่วว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ในช่วงเวลาที่ครอบครัวชาวอเมริกันต้องเผชิญกับราคาที่พุ่งสูงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ไบเดน เผยว่าเขาสั่งการให้ เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จัดประชุมฉุกเฉินในประเด็นนี้และประสานงานกับสภาปิโตรเลียมแห่งชาติ คณะที่ปรึกษาที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส
อย่างไรก็ตาม ทางภาคอุตสากรรมน้ำมันออกมาตอบโต้กลับคำกล่าวอ้างของไบเดนอย่างรวดเร็ว "เรารู้สึกประหลาดใจและผิดหวังกับหนังสือของประธานาธิบดี" เชท ธอมป์สัน ซีอีโอของบริษัทอเมริกันฟูเอล แอนด์ ปิโตรเคมิคอล แมนูแฟคเจอเรอร์ กล่าว
"คำกล่าวอ้างใดๆ ที่บอกว่าโรงกลั่นต่างๆ ของสหรัฐฯ ไม่ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพแก่ตลาดนั้นเป็นเท็จ" ธอมป์สันกลาว "เราจะกระตุ้นให้รัฐบาลมองให้ลึกกว่านี้ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นว่านโยบายต่างๆ ของพวกเขาเองและถ้อยคำโวหารที่เป็นปรปักษ์ทั้งหลายมีบทบาทแค่ไหนในกรณีแวดล้อมในปัจจุบัน"
ประธานาธิบดี และคณะทำงานของเขา ยอมรับในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ไบเดน คงทำอะไรไม่ได้มากในการฉุดรั้งราคาพลังงานที่พุ่งสูง ราคาเบนซินโดยเฉลี่ยทั่วประเทศแตะระดับ 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองครั้งใหญ่ของประธานาธิบดี ที่กำลังพยายามอย่างหนักในการฉุดราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงให้ลดต่ำลงมา ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อครั้งเลวร้ายสุดในรอบหลายทศวรรษ
ไบเดน และรัฐบาลของเขากล่าวโทษซ้ำๆ ไปที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียและสงครามรุกรานยูเครนของปูติน สำหรับราคาพลังงานที่พุ่งสูง แม้พวกผู้เชี่ยวชาญอ้างอิงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่นกัน ในนั้นรวมถึงอุปสงค์ระดับสูง ปัญหาคอขวดทางอุปทาน และความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น
ในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีไบเดน แถลงปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ 180 ล้านบาร์เรล และยังกำหนดกรอบมาตรการต่างๆ หลายอย่างที่รัฐบาลของเขาจะใช้ลงโทษบริษัทพลังงานทั้งหลายที่เช่าที่ดินของรัฐบางกลางเอาไว้แล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน โทษฐานที่ไม่เพิ่มกำลังผลิตในส่วนนี้
ประธานาธิบดีไบเดนในสัปดาห์นี้ ยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารและแก๊สที่พุ่งสูง กำลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับครอบครัวชาวอเมริกัน และยอมรับด้วยว่าเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกแยกในวุฒิสภา ได้ขัดขวางวาระภายในประเทศทั้งหลายของเขา
ในความพยายามเชิงรุกต่อสู้กับเงินเฟ้อ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% ถือเป็นการปรับขึ้นมากสุดนับตั้งแต่ปี 1994 หลังจากราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นถึง 8.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นอัตราที่ร้อนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 1981
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)