xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูเครน’ จี้ตะวันตกเร่งส่งอาวุธช่วย เตือน ‘อหิวาต์’ ระบาดในมาริอูโปล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลยูเครนวิงวอนชาติตะวันตกเร่งจัดส่งอาวุธหนักเข้ามาช่วยต้านทานการบุกของรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส รวมถึงขอการสนับสนุนด้านมนุษยธรรม หลังมีรายงานอหิวาตกโรค (chorela) ระบาดที่เมืองมาริอูโปล

กองทัพรัสเซียมุ่งมั่นที่จะยึดเมืองเมืองซีวีโรโดเนตสก์ (Sievierodonetsk) ในแคว้นลูฮันสก์ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และมีรายงานว่ายังคงเกิดการยิงปะทะอย่างหนักที่นี่

เจ้าหน้าที่ยูเครนยอมรับว่า ทหารยูเครนเป็นรองรัสเซียทั้งในด้านอาวุธและเครื่องกระสุน และจะพลิกสถานการณ์ได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตรปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาส่งอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าไปให้ รวมถึงระบบจรวด

“ตอนนี้มันกลายเป็นสงครามปืนใหญ่แล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตะวันตกว่าจะส่งอะไรให้เรา” วาดิม สกีบิตสกี รองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ พร้อมระบุว่าเวลานี้จำนวนปืนใหญ่ที่ยูเครนมีอยู่คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 10-15 เมื่อเทียบกับรัสเซีย

เยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่มอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกราน แต่ยังคงถูกวิจารณ์ว่าล่าช้าในการส่ง “อาวุธหนัก” ซึ่งเป็นสิ่งที่เคียฟต้องการ ล่าสุด นิตยสารข่าว แดร์ ชปีเกล รายงานเมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ว่ารัฐบาลเบอร์ลินมีแผนจะแก้กฎระเบียบว่าด้วยการส่งออกอาวุธ เพื่อให้สามารถส่งความช่วยเหลือแก่รัฐประชาธิปไตยเช่นยูเครนได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน นายกเทศมนตรีเมืองมาริอูโปลเปิดเผยว่า ระบบสุขาภิบาลของเมืองแห่งนี้ล่มสลายนับตั้งแต่ถูกรัสเซียยึด และมีศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยอยู่ตามท้องถนน

“ตอนนี้เริ่มมีคนป่วยเป็นโรคบิดและอหิวาตกโรค” วาดิม บอยเชนโก นายกเทศมนตรีเมืองมาริอูโปลแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ พร้อมระบุว่าซากศพที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ทำให้บ่อน้ำหลายแห่งเกิดการปนเปื้อน

“สงครามได้คร่าชีวิตชาวเมืองไปแล้วกว่า 20,000 คน และเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นเช่นนี้ ชาวมาริอูโปลก็อาจต้องล้มตายกันอีกหลายพัน”

บอยเชนโก เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ช่วยเปิดระเบียงมนุษยธรรมให้ชาวมาริอูโปลที่ยังหลงเหลืออยู่สามารถเดินทางออกจากเมืองได้

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เตือนว่าปริมาณข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์อาหารที่ยูเครนและรัสเซียส่งออกได้น้อยลงอาจส่งผลให้ประชากรทั่วโลก 19 ล้านคนต้องเผชิญวิกฤตความหิวโหยในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น