สมาชิกรัฐสภายุโรปเมื่อวันพุธ (8 มิ.ย.) ลงมติเห็นชอบห้ามขายรถยนต์ใหม่เครื่องยนต์สันดาปในปี 2035 ในสิ่งที่จะเป็นหนึ่งในกฎหมายที่หนักแน่นที่สุดของโลก สำหรับการเลิกใช้รถยนต์เบนซินอย่างค่อยไปค่อยไป หากมันได้รับอนุมัติจากคณะมนตรียุโรป
ในขณะที่มาตรการนี้ยังคงต้องถกเถียงกันในคณะมนตรียุโรปและผ่านเป็นกฎหมาย แต่ผลโหวตของสมาชิกรัฐสภายุโรปถูกมองในฐานะก้าวย่างที่สำคัญที่สุดในกระบวนการดังกล่าว การเห็นชอบโดยสมบูรณ์อาจหมายถึงยอดขายที่ลดลงในรถยนต์ไฮบริด และการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
กลุ่มก๊กขวากลางของรัฐสภายุโรปส่งเสียงสนับสนุนห้ามขายรถยนต์ใหม่เครื่องยนต์สันดาปแบบ 100% ในปี 2035 แต่สมาชิกบางส่วนเรียกร้องให้แบนราว 90% พอ ซึ่งหมายความว่าราวๆ 1 ใน 10 ของรถยนต์ใหม่ที่วางจำหน่ายยังคงสามารถเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
ยาน ฮุยเตมา ส.ส.จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแกนนำในการร่างนโยบายดังกล่าว ระบุว่า "ผมโล่งใจมากและมีความสุขกับผลการลงมติ" หลังจากก่อนหน้านี้รัฐสภายุโรปฏิเสธ 3 ข้อเสนอสำคัญอื่นๆ ในนั้นรวมถึงนโยบายหลักสำหรับปฏิรูปตลาดคาร์บอน
ปีเตอร์ ลีเซ ส.ส.จากเยอรมนี บอกกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ในวันพุธ (8 มิ.ย.) ว่ากลุ่มขวากลาง EPP ของเขา ไม่สนับสนุนการแบนแบบ 100% พร้อมระบุว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปยังคงควรได้รับอนุญาตให้ใช้ต่อไป และเทคโนโลยีเกี่ยวกับเชื้อเพลิงสังเคราะห์คาร์บอนต่ำน่าจะดีขึ้นแล้วในช่วงเวลานั้น
"ผมคิดว่า พวกนักการเมืองไม่ควรเป็นคนตัดสินใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เชื้อเพลิงสังเคราะห์ อย่างไหนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหากเรามอบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ" เขากล่าว
เขาระบุมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ จะได้รับความสนใจมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีความเป็นจริงมากกว่าสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งซื้อรถยนต์ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่สามารถเคลื่อนสู่เศรษฐกิจพลังงานหมุนเวียนภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
คณะกรรมการธิการยุโรปแถลงเกี่ยวกับแผนเลิกใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างค่อยเป็นค่อยไป ครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปีก่อน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านสู้รถยนต์ไฟฟ้า ทางคณะกรรมาธิการบอกว่าจะบังคับให้สมาชิก 27 ชาติ ขยายศักยภาพในการชาร์จไฟรถยนต์ โดยจะต้องติดตั้งจุดชาร์จไฟบนถนนสายหลักทุกๆ 60 กิโลเมตร และจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซล
อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจยุโรป คิดเป็นสัดส่วน 7% ของจีดีพี และสนับสนุนการจ้างงาน 14.6 ล้านในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม การขนส่งเป็นเพียงภาคเดียวที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และยานยนต์บนท้องถนนคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2017
สหราชอาณาจักร ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้ว แถลงเมื่อปีก่อน ว่าจะแบนการขายรถยนต์ใหม่เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เริ่มในปี 2030 แต่จะอนุญาตให้ขายรถยนต์ใหม่ไฮบริดบางส่วนต่อไปจนถึงปี 2035
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)