ยุโรปในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) กำลังเผชิญแรงกดดันหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ให้ต้องเร่งค้นหาอุปทานแก๊สทางเลือกทดแทน หลังมอสโกออกมาตรการคว่ำบาตรบรรดาสาขาของก๊าซพรอมในยุโรป ในนั้นรวมถึงในเยอรมนี ที่ถูกหน่วยงานพลังงานเบอร์ลินเข้ายึดกิจการ หลังจากเมื่อ 1 วันก่อนยูเครนระงับการใช้เส้นทางขนส่งแก๊สรัสเซียผ่านดินแดนของตนเส้นทางหนึ่ง
ราคาแก๊สดีดตัวสูงขึ้น ด้วยสัญญาหลักของยุโรปพุ่งขึ้นถึง 12% เนื่องจากบรรดาผู้ซื้อมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอุปทานแก๊สของยุโรป ซึ่งต้องพึ่งพิงแก๊สจากรัสเซียในปริมาณที่สูงลิ่ว
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ตัดการป้อนแก๊สแก่บัลแกเรียและโปแลนด์ไปแล้ว และทั้ง 2 ประเทศกำลังเร่งเติมเต็มคลังสำรองแก๊สที่ลดลงอย่างมาก ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
รัสเซียในช่วงค่ำวันพุธ (11 พ.ค.) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรบรรดาบริษัทลูกในยุโรปของก๊าซพรอม ในนั้นรวมถึงก๊าซพรอม เยอรมาเนีย บริษัทซื้อขาย จัดเก็บและประกอบธุรกิจขนส่งพลังงาน ที่รัฐบาลเยอรมนีเข้าควบคุมเมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องอุปทานที่พอเพียงในเยอรมนี แม้รัสเซียเตือนว่าจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ รัสเซียยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าของทำลำเลียงยามาล-ยุโรป ที่ลำเลียงแก๊สรัสเซียไปยังยุโรป ในส่วนที่ทอดผ่านโปแลนด์ด้วยเช่นกัน
บรรดาบริษัทที่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งรายชื่อปรากฏอยู่บนเว็บไซต์รัฐบาลรัสเซีย ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในประเทศต่างๆ ที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน และเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
เยอรมนี ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซียในยุโรป บอกว่าบริษัทลูกบางแห่งของก๊าซพรอม เยอรมาเนีย ไม่ได้รับแก๊สสืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร "ก๊าซพรอมและบรรดาบริษัทลูกของเขาได้รับผลกระทบ" โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนีบอกกับสภาล่าง "นั่นหมายความว่าบริษัทลูกบางแห่งไม่ได้รับแก๊สจากรัสเซีย แต่ตลาดกำลังเสนอทางเลือกอื่น"
ในบรรดาบริษัทที่อยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของรัสเซีย ยังรวมไปถึงโรงงานกักเก็บแก๊สใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ในเมืองเรห์เดน รัฐโลเวอร์แซกโซนี ที่มีความจุ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรและบริหารงานโดยบริษัทแอสโตรา เช่นเดียวกับวินก๊าซ บริษัทจัดหาก๊าซป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคท้องถิ่น
วินก๊าซ บอกว่าพวกเขายังคงเดินหน้าปฏิบัติการต่อไปได้แต่เสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลน จึงมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทคู่แข่งอย่างยูนิเปอร์ จะเข้ามาเป็นแหล่งจ่ายอุปทานป้อนสู่ตลาดแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงจ่ายก๊าซป้อนแก่ เยอรมนี ผ่านท่อลำเลียงนอร์ด สตรีม 1 ที่ลอดใต้ทะเลบอลติก
เฮนนิ่ง กลอยสเตน ผู้อำนวยการสถาบันยูโรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า "หากบริษัทต่างๆ ที่ถูกคว่ำบาตรไม่สามารถปฏิบัติการได้ บริษัทอื่นๆ ในฐานะสาธารณูปโภคก๊าซอาจเข้ามารับช่วงต่อของสัญญา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามันจะต้องมีการตกลงเงื่อนไขใหม่ๆ กับก๊าซพรอม ในนั้นรวมถึงแนวทางการชำระเงิน บางทีมันอาจเป็นเจตนาของก๊าซพรอม และยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นการส่งสัญญาณแก้แค้น (มาตรการคว่ำบาตรของอียู) ด้วย"
ก๊าซพรอมระบุว่า พวกเขาไม่สามารถส่งออกแก๊สผ่านโปแลนด์ทางท่อลำเลียงยามาล-ยุโรป ได้อีกแล้ว หลังรัสเซียกำหนดมาตรการคว่ำบาตร ยูโรโพลก๊าซ ซึ่งเป็นเจ้าของท่อลำเลียงยามาล-ยุโรป ช่วงที่ทอดผ่านโปแลนด์
ท่อลำเลียงนี้เชื่อมต่อบ่อแก๊สของรัสเซียในแหลมยามาล และทางตะวันตกของไซบีเรีย กับโปแลนด์และเยอรมนี ผ่านเบลารุส และมีศักยภาพ 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือราว 1 ใน 6 ของแก๊สที่รัสเซียป้อนไปยังยุโรป
อย่างไรก็ตาม แก๊สยังคงไหลสู่ทิศตะวันออกผ่านท่อลำเลียงแห่งนี้ จากเยอรมนีไปยังโปแลนด์ต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้ว ช่วยให้ โปแลนด์ ซึ่งโดนรัสเซียตัดอุปทานพร้อมๆ กับบัลแกเรียเมื่อเดือนที่แล้ว โทษฐานที่ไม่ยอมทำตามกลไกการชำระเงินใหม่ สามารถกักตุนสำรองแก๊สได้เพิ่มเติม
รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ของรัสเซียดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อดันราคาให้พุ่งสูงขึ้น แต่คาดหมายว่าตลาดน่าจะสามารถหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาชดเชยการส่งมอบแก๊สจากรัสเซียที่ขาดหายไปราว 3% ได้ แม้จะในราคาที่สูงขึ้นก็ตาม
สัญญาซื้อขายแก๊สล่วงหน้าที่ตลาดกลางเนเธอร์แลนด์ ดีดตัวขึ้นสูงสุด 20% ก่อนปิดบวก 12% ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายนี้ขยับขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซ้ำเติมภาระแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจทั้งหลาย
แม้คลังสำรองแก๊สของเยอรมนีอยู่ที่ระดับราวๆ 40% ของความจุ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำสำหรับช่วงเวลานี้ของปี และจำเป็นต้องเติมเต็มคลังสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูหนาว
มาตรการคว่ำบาตรของรัสเซียมีขึ้นเพียงวันเดียว หลังจากแก๊สรัสเซียที่ไหลไปยังยุโรปโดยผ่านยูเครน มีปริมาณลดลงไปราวหนึ่งในสี่เมื่อวันพุธ (11 พ.ค.) หลังจากเคียฟระงับไม่ให้ใช้เส้นทางขนส่งผ่านดินแดนของตนเส้นหนึ่ง โดยอ้างว่าเพราะถูกกองทหารรัสเซียแทรกแซง ถือเป็นครั้งแรกที่การส่งออกแก๊สผ่านยูเครนต้องเผชิญความวุ่นวาย นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน
GTSOU ผู้ดำเนินการระบบสายท่อแก๊สในยูเครน ระบุว่า จุดขนส่งโซครานอฟกา จะไม่กลับมาเปิดปฏิบัติการจนกว่าเคียฟจะได้เข้าควบคุมระบบท่อลำเลียงโดยสมบูรณ์ พร้อมระบุว่ากระแสแก๊สอาจถูกเบี่ยงเส้นทางสู่จุดขนส่งซัดซาแทน แม้ทาง ก๊าซพรอม ชี้ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค
เส้นทางที่ยูเครนสั่งปิดคราวนี้ ปกติแล้วใช้ขนส่งแก๊สรัสเซียซึ่งผ่านไปให้ยุโรปในปริมาณราวๆ 8% ส่วนใหญ่ส่งไปยังออสเตรีย อิตาลี สโลวะเกีย และชาติยุโรปตะวันออกอื่นๆ
ถึงแม้คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าการระงับไม่ให้ใช้เส้นทางขนส่งของยูเครน ไม่ได้ก่อปัญหาในแง่ของอุปทานแก๊สอย่างทันทีทันใด แต่มีความกังวลในตลาดต่อฤดูหนาวที่กำลังมาถึง ครั้งที่อุปทานแก๊สสำหรับทำความร้อนพุ่งสูง ท่ามกลางอุปทานโลกที่มีอย่างจำกัด
บรรดานักการเมืองฟินแลนด์เตือนว่ารัสเซียอาจระงับการจ่ายแก๊สที่ป้อนแก่ประเทศของพวกเขาในวันศุกร์ (13 พ.ค.) ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่อ้างแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ทั้งนี้แก๊สคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดของฟินแลนด์
ยังคงมีความสับสนในบรรดาบริษัทแก๊สยุโรปเกี่ยวกับกลไกการชำระเงินที่ประกาศโดยรัสเซียในเดือนมีนาคม หลังคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนว่ามันอาจละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานมอสโก
RWE บริษัทผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของเยอรมนี คาดหมายว่าเบอร์ลินจะให้ความกระจ่างเร็วๆ นี้ ว่าการชำระค่าแก๊สแก่รัสเซียภายใต้กลไกที่เสนอโดยมอสโกนั้น สามารถกระทำได้หรือไม่ ในขณะที่เส้นตายของการชำระเงินคือในช่วงสิ้นเดือนนี้
บรรดาผู้ซื้อแก๊สจากยุโรปส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธเสียงเรียกร้องของรัสเซียที่ขอให้ชำระค่าแก๊สเป็นสกุลเงินรูเบิล สืบเนื่องจากรายละเอียดของกระบวนการการชำระเงิน ซึ่งบังคับให้เปิดบัญชีกับก๊าซพรอมแบงก์โหมกระพือความกังวลว่าจะเกิดปัญหาความปั่นป่วนทางอุปทานเพิ่มเติม และก่อผลกระทบอย่างไม่อาจคาดเดาแก่ยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งพึ่งพิงก๊าซรัสเซียสูงลิ่ว
(ที่มา : รอยเตอร์)