ทางการสหรัฐฯ พบ “หลุมฝังศพ” ทั้งแบบที่มีป้ายและนิรนามอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนประจำสำหรับเด็กอเมริกันพื้นเมือง 53 แห่ง นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนประวัติศาสตร์การกดขี่ และความพยายามลบล้างวัฒนธรรมชนพื้นเมืองในอเมริกา
เด็บ ฮาแลนด์ (Deb Haaland) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองคนแรกที่ได้ตำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เริ่มเปิดการสอบสวนประวัติศาสตร์อันมืดดำของโรงเรียนประจำชนพื้นเมืองตั้งแต่ปีที่แล้ว และได้ออกมาแถลงผลการตรวจสอบในเบื้องต้น “ทั้งน้ำตา” เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.)
“นโยบายของส่วนกลางที่พยายามจะลบล้างอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมชนพื้นเมือง เป็นความเจ็บปวดที่ชุมชนคนพื้นเมืองยังคงเผชิญอยู่จนถึงทุกวันนี้” ฮาแลนด์ กล่าว
“เราจำเป็นต้องตีแผ่ความทุกข์ทรมานในอดีต ที่ไม่มีใครเคยพูดถึงมาก่อน”
รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความโหดร้ายของระบบโรงเรียนประจำซึ่งครอบครัวชาวอเมริกันพื้นเมืองในอดีตถูกบังคับให้ต้องส่งลูกหลานเข้าไปเรียน เด็กๆ เหล่านี้จะถูก “ล้าง” วัฒนธรรมดั้งเดิม และถูกบังคับให้ยอมรับค่านิยมใหม่ๆ เพื่อที่คนผิวขาวจะได้เข้ายึดดินแดนชนเผ่าเหล่านี้โดยง่าย
ทีมนักวิจัยได้สืบค้นบันทึกของโรงเรียนประจำชนพื้นเมือง 408 แห่งที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 1819-1969 และอีก 89 โรงเรียนที่ไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ โรงเรียนประจำเหล่านี้ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโบสถ์ และมีรายงานว่าเด็กชนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด หลายหมื่นคนสูญหายไร้ร่องรอย ไม่มีโอกาสได้กลับไปเจอหน้าครอบครัวอีก
รายงานฉบับนี้ย้ำว่า การล่วงละเมิดทางร่างกาย ทางเพศ และทางจิตใจต่อเด็กชนพื้นเมืองเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบภายในโรงเรียนประจำเหล่านี้ และ “มีหลักฐานบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน”
ผลการสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า มีเด็กชนพื้นเมืองไม่ต่ำกว่า 500 คนที่เสียชีวิตขณะอยู่ในโรงเรียนประจำ และทีมผู้ตรวจสอบเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงยิ่งกว่านี้มาก
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรงเรียนประจำชนพื้นเมืองในอเมริกากลายเป็นกระแสข่าวดังระดับโลกเมื่อปีที่แล้ว หลังจากผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดาประกาศค้นพบหลุมฝังศพเด็กนักเรียน 215 คน ในบริเวณที่ตั้งของอดีตโรงเรียนประจำคัมลูปส์อินเดียน (Kamloops Indian Residential School) ในบริติชโคลัมเบีย ขณะที่รัฐบาลแคนาดาได้ตั้งคณะกรรมาธิการสืบหาข้อเท็จจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบ
ที่มา : รอยเตอร์