สำนักข่าวกรองกลางแห่งสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ไม่พบเห็นข้อบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังเตรียมการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในสงครามยูเครน จากความคิดเห็นของ บิล เบิร์นส ผู้อำนวการสำนักงานในวันเสาร์ (7 พ.ค.) พร้อมเชื่อว่าจีนกำลังศึกษาปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นบทเรียนต่อแผนระยะยาวสำหรับรวมชาติกับไต้หวัน
"ในฐานะประชาคมข่าวกรอง ณ จุดนี้เราไม่พบเห็นหลักฐานในทางปฏิบัติเกี่ยวกับแผนของรัสเซียสำหรับการประจำการ หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค" เบิร์นส กล่าว "แต่ด้วยลักษณะการสำแดงแสนยานุภาพดังกล่าวดังที่เราได้ยินจากปากของผู้นำรัสเซีย เราไม่สามารถดูเบาความเป็นไปได้เหล่านั้น"
ผู้อำนวยการซีไอเอให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์สต่อว่า "ดังนั้นเราจึงยังคงต้องโฟกัสด้วยความเฉียบคมอย่างที่สุดในฐานะหน่วยข่าวกรองในความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ครั้งที่การเดิมพันของรัสเซียอยู่ในระดับสูงมาก"
รัสเซียสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อมขั้นสูง หลังประธานาธิบดีวลาดมีร์ ปูติน ส่งทหารยกพลบุกยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ปูติน ยังได้ข่มขู่ ด้วยการแย้มว่าเขามีความตั้งใจประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคของรัสเซีย
ประมุขแห่งเครมลินรายนี้เคยเตือนเมื่อเดือนเมษายนว่า จะตอบโต้ "สายฟ้าแลบ" หากว่าตะวันตกเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครน
ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า "หากใครก็ตามจากภายนอกพยายามเข้ามาแทรกแซงในยูเครนและก่อภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อรัสเซีย พวกเขาควรรู้ไว้เลยว่า การตอบสนองของเราต่อการโจมตีเหล่านั้นจะรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ” ปูตินกล่าว "เรามีเครื่องมือทุกอย่างสำหรับเรื่องนี้ เครื่องมือที่ไม่มีใครโอ้อวด เราจะไม่โอ้อวด เราจะใช้มันหากจำเป็น ผมอยากให้ทุกคนรู้เรื่องนี้ เราได้ตัดสินใจทั้งหมดในเรื่องนี้ไปแล้ว"
ปูตินไม่ได้เจาะจงว่าเครื่องมือดังกล่าวนั้นคืออะไร แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งไปตรวจตราการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปซาร์มัต ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และคาดหมายว่ารัสเซียจำประจำการขีปนาวุธดังกล่าวเร็วๆ นี้ ในขณะที่ขีปนาวุธซาร์มัตแต่ละลูกมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์อย่างน้อยๆ 10 หัวรบ
นอกจากนี้ เบิร์นส ยังได้แสดงความคิดเห็นพาดพิงไปยังจีน โดยระบุว่าปักกิ่งกำลังศึกษาการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างใกล้ชิด และดูเหมือนกำลังปรับแผนระยะยาวสำหรับเข้าควบคุมไต้หวัน จากการถอดบทเรียนจากสงครามครั้งนี้
"ชัดเจนว่าพวกผู้นำจีนกำลังพยายามจับตามองอย่างระมัดระวังต่อบทเรียนที่พวกเขาได้จากยูเครน เกี่ยวกับความทะเยอทะยานของพวกเขาเองและไต้หวัน" เบิร์นสกล่าวกับไฟแนนเชียลไทม์ส
ตัวของเบิร์นสคิดว่าปักกิ่งคงรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยจากผลงานที่ย่ำแย่ของกองทัพรัสเซีย เช่นเดียวกับแรงต้านทานอันหนักหน่วงจากทั่วทุกสังคมของยูเครน "ผมคิดว่าพวกเขาคงงงงวยต่อแนวทางที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมไม้ร่วมมือของพันธมิตรข้ามแอตแลนติกในการกำหนดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รัสเซียต้องชดใช้ ผลจากการรุกราน" เขากล่าว
"ปักกิ่งคงรู้สึกไม่สบายใจต่อข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งที่ปูตินทำนั้น ได้ผลักให้ยุโรปและอเมริกามีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น" เบิร์นสระบุ "ผมคิดว่าผู้นำจีนกำลังจับตามองเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้อย่างระมัดระวัง ทั้งสิ่งที่ต้องชดใช้และผลลัพธ์จากความพยายามใดๆ ในการใช้กำลังเพื่อเข้าควบคุมไต้หวัน"
(ที่มา : เอเอฟพี)