xs
xsm
sm
md
lg

ไม่กลัวคำขู่! ฟินแลนด์เตรียมพร้อมรับมือรัสเซียตัดก๊าซ เป็นไปได้ตัดสินใจเข้าร่วมนาโต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟินแลนด์เตรียมพร้อมแล้วสำหรับรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะถูกรัสเซียตัดการส่งมอบก๊าซธรรมชาติ ก่อนหน้าที่ประเทศแถบนอร์ดิกแห่งนี้จะแถลงบทสรุปการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) หรือไม่เร็วๆ นี้ รัฐมนตรีในรัฐบาลรายหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.)

รัฐบาลฟินแลนด์ระบุเมื่อวันที่ 28 เมษายน ว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย ที่ขอให้ฟินแลนด์จ่ายค่าก๊าซเป็นสกุลเงิลรูเบิล คำประกาศที่อาจทำให้มอสโกตัดการส่งก๊าซธรรมชาติที่ป้อนแก่ฟินแลนด์ในเดือนนี้ แบบเดียวกับที่ทำกับโปแลนด์และบัลแกเรีย

Gasum รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของฟินแลนด์มีกำหนดตอบกลับต่อหนังสือฉบับหนึ่งจากก๊าซพรอมของรัสเซียที่ขอให้ชำระค่าก๊าซเป็นรูเบิล แหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้บอกกับรอยเตอร์ พร้อมระบุว่าเส้นตายของการตอบกลับคือวันที่ 20 พฤษภาคม

ประเทศแห่งนี้มีกำหนดแถลงอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า ว่า จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรทหารตะวันตกนาโต้หรือไม่ ท่ามกลางคำเตือนของรัสเซีย และมีความกังวลว่ารัสเซียอาจแบล็กเมล์ฟินแลนด์ด้วยการระงับส่งก๊าซธรรมชาติ

ในเรื่องนี้ ทรีตติ ทูปปูไรเนน รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฟินแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ ว่า "ฟินแลนด์เตรียมพร้อมแล้วสำหรับความเป็นไปได้ที่การส่งมอบก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะสิ้นสุดลง"

ทูปปูไรเนน ระบุว่า ฟินแลนด์ได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รับมือ ในนั้นรวมถึงคงไว้ซึ่งแหล่งพลังงานทางเลือก และเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลยังได้ประกาศว่าจะเช่าสถานีรับจ่าย LNG ลอยน้ำแห่งหนึ่งร่วมกับเอสโตเนีย

แม้ฟินแลนด์ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทางจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 60-70% แต่มันคิดเป็นสัดส่วนแค่ราวๆ 5% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดของประเทศเมื่อปีที่แล้ว โดยที่น้ำมัน พลังงานชีวมวลจากไม้และพลังงานนิวเคลียร์ คือแหล่งพลังงานหลักของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ฮิคกิ ลินด์ฟอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดก๊าซธรรมชาติจากฟินนิช เอเนอร์จี ให้ความเห็นว่าก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่นั้นใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม "สัดส่วนก๊าซในการบริโภคโดยรวมของฟินแลนด์นั้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่เล็กน้อย แต่ว่ามันใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคงไม่สามารถทดแทนได้ง่ายๆ" เขากล่าว พร้อมระบุว่า ที่สุดแล้วบางบริษัทอาจลงเอยด้วยการหยุดการผลิต

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น