เศรษฐกิจจีน 3 เดือนแรกปีนี้มีอัตราเติบโตดีขึ้นกว่าที่คาดหมายกัน ขณะที่ปักกิ่งเตือนว่ายังคงมีความท้าทายสำคัญรออยู่ และหนึ่งในนั้นคือการกลับมาระบาดอีกระลอกของตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งทางการแดนมังกรยังคงตอบโต้ด้วยยุทธศาสตร์ “โควิดต้องเป็นศูนย์” รวมทั้งในมหานครเซี่ยงไฮ้ที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทำให้วิตกกันว่าจะกระทบการผลิตอย่างแรง และล่าสุดยังพบผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกรวม 3 ราย ซึ่งล้วนเป็นคนสูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
การเติบโตของจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก เริ่มแผ่วลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว จากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบ และมาตรการตรวจสอบลงโทษพวกบริษัทรายยักษ์ๆ ของทางการ
แต่สำหรับไตรมาสที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.2022) สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) แถลงเมื่อวันจันทร์ (18 เม.ย.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวในอัตรา 4.8% จากการจับจ่ายในเทศกาลตรุษจีนและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยตัวเลขนี้สูงกว่าที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายกันซึ่งให้ไว้ที่ 4.4% และดีขึ้นจากระดับ 4.0% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี การเติบโตอยู่ในอาการอ่อนตัวลงในเดือนมีนาคม ทั้งทางด้านการบริโภค ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออก นอกจากนั้น ช่วงหลายสัปดาห์ต่อจากนี้ไปดูไม่สู้น่าวางใจ จากการที่ปักกิ่งเดินหน้าสู้โควิดด้วยมาตรการเข้มงวด ทำให้ประชาชนหลายสิบล้านคนถูกล็อกดาวน์ ซึ่งรวมถึงในเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นที่เป็นเฟืองจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแหล่งผลิตธัญพืชสำคัญอย่างมณฑลจี๋หลิน
ฟู่ หลิงฮุย โฆษกเอ็นบีเอส แถลงว่า ในภาวะที่ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศซับซ้อนขึ้นและไร้ความแน่นอน พัฒนาการทางเศรษฐกิจจึงกำลังเผชิญความยากลำบากและความท้าทายมากขึ้น
ทั้งนี้ การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในเวลานี้ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดนับจากช่วงพีกในเวฟแรกที่ตรวจพบไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่นปลายปี 2019 บวกกับมาตรการที่ตะวันตกแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจากการบุกยูเครน ทำท่ากลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเติบโตระดับประมาณ 5.5% ของจีนในปีนี้
ข้อมูลของเอ็นบีเอสระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมชะลอลงอยู่ที่ 5% ขณะที่ยอดค้าปลีกตกฮวบเหลือ 3.5% และอัตราว่างงานในแถบชานเมืองพุ่งสูงสุดในรอบ 22 เดือนอยู่ที่ 5.8%
ทอมมี่ อู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนของ ออกซฟอร์ด อิโคโนมิกส์ ระบุว่า ข้อมูลกิจกรรมเศรษฐกิจเดือนมีนาคมบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนชะลอลงโดยเฉพาะการบริโภคในครัวเรือน และปักกิ่งกำลังพยายามรักษาสมดุล ด้วยการมุ่งลดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคระบาดระลอกใหม่ แต่เขาเตือนว่า เศรษฐกิจยังอาจชะลอลงในเดือนพฤษภาคม หรือนานกว่านั้นอีก
สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่ายรถที่รวมถึงเสี่ยวเผิง และโฟล์คสวาเกน เตือนว่า อาจมีการหยุดชะงักรุนแรงในห่วงโซ่อุปทานและแม้กระทั่งการระงับการผลิตโดยสิ้นเชิง หากการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่มีประชากร 25 ล้านคนยืดเยื้อออกไป
ขณะเดียวกัน สินค้าเริ่มอัดแน่นในท่าเรือคอนเทนเนอร์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการใช้บริการหนาแน่นที่สุดในโลก โดย เมอส์ก บริษัทขนส่งทางทะเลยักษ์ใหญ่เผยว่า จะหยุดรับการจองตู้คอนเทนเนอร์เย็นในเซี่ยงไฮ้
สำหรับสถานการณ์โควิดในเซี่ยงไฮ้นั้น ทางการรายงานเมื่อวันจันทร์ (18) ว่า มีผู้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับจากเริ่มต้นล็อกดาวน์เมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งหมดเป็นผู้สูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่จำนวนเคสใหม่ยังเพิ่มขึ้นวันละกว่า 25,000 คน
ไอริส แปง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนและปริมณฑล ของไอเอ็นจีชี้ว่า ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์จะปรากฏขึ้นเพิ่มเติมในเวลาอันใกล้ ขณะที่เมืองอื่นๆ อาจพยายามตามรอยความสำเร็จของเซินเจิ้นในการเปิดเมืองอย่างรวดเร็วด้วยการใช้มาตรการสกัดไวรัสเข้มงวดกับผู้ป่วยโควิดกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น โดยฮับไฮเทคแห่งนี้ล็อกดาวน์เต็มพิกัดเกือบสัปดาห์ในเดือนที่ผ่านมาและผ่อนคลายมาตรการหลังจากนั้น
ขณะที่ จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง
ด้านฟู่จากเอ็นบีเอสเตือนเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะทำให้ผลผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลีลดลง
แปงจากไอเอ็นจีย้ำว่า การสนับสนุนด้วยนโยบายการคลังและการเงินของปักกิ่งไม่เพียงพอชดเชยความเสียหายต่อจีดีพีที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ และอาจต้องมีการทบทวนการคาดการณ์จีดีพีเพิ่มเติมหากมาตรการสนับสนุนทางการเงินออกมาไม่ทันการณ์
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)