นิโคไล ชุลกินอฟ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียเผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รัสเซียพร้อมขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันแก่ “ประเทศที่เป็นมิตร” โดย "ไม่เกี่ยงราคา" ตามรายงานของสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ ขณะที่มีข่าวว่าอียูสหภาพยุโรปกำลังมุ่งหน้าสู่การแบนน้ำมันรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป บรรเทาผลกระทบแก่เยอรมนี ซึ่งพึ่งพิงพลังงานจากมอสโกเป็นอย่างมาก
ชุลกินอฟเผยกับหนังสือพิมพ์ Izvestia ว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบอาจแตะ 80-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในทางทฤษฎี แต่รัสเซียให้ความสำคัญมากกว่ากับการสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจน้ำมันของรัสเซียจะยังเดินหน้าต่อไปได้
ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานน้ำมันโลกพุ่งไปที่เกือบ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนจะลดลงมาเหลือ 100 ดอลลาร์เมื่อวันพุธ (13 เม.ย.) แต่ดีดตัวขึ้นเหนือ 110 ดอลลาร์อีกครั้งในวันพฤหัสบดี (14 เมย.)
ชุลกินอฟ ไม่ได้ระบุชื่อ "ประเทศที่เป็นมิตร" ที่เขาเอ่ยถึง แต่อินเดียและจีนเป็น 2 ประเทศที่กำลังซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย โดยทั้ง 2 ประเทศไม่เคยออกมาประณามอย่างเปิดเผยต่อกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน
อินเดียซึ่งเป็นชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ซื้อน้ำมันจากรัสเซียราว 12 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 2% ของปริมาณน้ำมันนำเข้าทั้งหมด ส่วนจีน โรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาใหม่สั่งซื้อน้ำจากรัสเซีย แต่บรรดาโรงกลั่นเอกชนที่มีขนาดเล็กกว่ายังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซียอย่างระมัดระวัง
แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรและการบอยคอตต์ต่างๆ แต่รัสเซียชาติมหาอำนาจทางพลังงาน ยังคงโกยรายได้จากการส่งออกพลังงานในปี 2022 เกือบ 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ารายได้ของปี 2021 ถึง 36% จากการคาดการณ์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ในเดือนเมษายน
สหภาพยุโรป (อียู) ชาติผู้บริโภครายใหญ่พลังงานรัสเซีย เห็นชอบแบนนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมเผยว่ากำลังพิจารณาห้ามเข้าน้ำมันของมอสโกด้วย อย่างไรก็ตาม อียูไม่พาดพิงถึงการตัดขาดก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากยุโรปยังคงต้องพึ่งพิงอุปทานก๊าซจากรัสเซียเป็นอย่างมาก
แต่ถึงกระนั้น ธนาคารโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ประมาณการว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวถึง 11.2% ในปี 2022 และทางกระทรวงการคลังของรัสเซีย ยอมรับว่ารายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศในเดือนมีนาคม ต่ำกว่าที่ทางกระทรวงคาดหมายไว้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ถึง 38%
แม้พึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างมาก แต่ประธานคณะกรรมาธิการสภายุโรป เรียกร้องให้อียูควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เวลานี้ อียูกำลังร่างข้อเสนอสำหรับห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย แม้ยังคงมีความเห็นต่างในการแบนน้ำมันดิบของรัสเซีย โดยบรรดาผู้แทนทูตของอียู เผยว่า เยอรมนีซึ่งพึ่งพิงน้ำมันรัสเซียเป็นอย่างมาก ไม่กระตือรือร้นสนับสนุนมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนีคาดหวังว่าจะสามารถเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงสิ้นปี
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่าสหภาพยุโรปกำลังมุ่งหน้าสู่การแบนน้ำมันรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดทางให้เยอรมนีและประเทศอื่นๆ มีเวลาสำหรับเตรียมการจัดหาผู้ส่งมอบรายอื่น
แอนดี ลิโพว์ นักวิเคราะห์จากลิโพว์ ออย แอสโซซิเอตส์ ในฮิวสตัน ระบุว่า "การแบนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะบีบให้ผู้ซื้อยุโรปแสวงหาแหล่งพลังงานอื่น ซึ่งบางส่วนในระยะสั้นนี้อาจได้จากคลังปิโตรเลียมสำรองที่ปล่อยออกมา แต่ในอนาคตจำเป็นต้องควานหาอุปทานเพิ่มเติม"
(ที่มา : อินเตอร์แฟ็กซ์/รอยเตอร์/บิสเนสอินไซเดอร์)