ชาวเยอรมนีเริ่มกักตุนไม้และถ่านหิน แม้เพิ่งเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ด้วยชาวบ้านกังวลกับราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น และความไม่แน่นอนต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
เยอรมนีเมื่อวันพุธที่แล้ว (30 มี.ค.) ประกาศเตือนในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสถานการณ์ฉุกเฉินด้านอุปทานก๊าซธรรมชาติ นับเป็นสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กระแสก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะหยุดไหล หรือหยุดชะงัก
เอริก พาสซาว ผู้สร้างเตาเผาและเตาผิง (ซึ่งต้องใช้ไม้ฟืนหรือถ่านหิน) กล่าวว่า "โทรศัพท์ของเราดังตลอดเวลา" พร้อมระบุว่าจากปัญหาขาดแคลนวัสดุ จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะสร้างให้ทันคำสั่งซื้อ "ผู้คนต้องการความปลอดภัย เพราะความหนาวเย็นยะเยือกมันไม่ใช่เรื่องสนุก"
แม้อุปทานก๊าซธรรมชาติยังคงมีเสถียรภาพ แต่บรรดาผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ ได้รับคำแนะนำให้ลดการบริโภคพลังงาน โดยทาง โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า "ทุกกิโลวัตต์-ทุกชั่วโมงมีค่า"
ซูซาน กาสเดน เป็นหนึ่งในประชาชนที่สั่งซื้อไม้สำหรับฤดูหนาวหน้า แม้ว่าเธอจะมีเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าในบ้านของเธอก็ตาม
"ฉันมีเตาในทุกห้อง และหากจู่ๆ ก๊าซดับลงอย่างกะทันหัน หรือเราขาดแคลนพลังงาน อย่างน้อยฉันก็สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง” เธอกล่าว "มันช่วยเอาชีวิตรอดไปได้ในวันมรสุม"
ริชาร์ด โคเกลอร์ ผู้ค้าพลังงานกล่าวว่า ผู้คนยังคงตุนถ่านหินและไม้ไว้แม้ว่าอากาศหนาวกำลังค่อยๆ หมดไป และเสริมว่าแม้กระทั่งก่อนสงครามในยูเครน อุปทานถ่านหินและฟืนก็ยังเริ่มตึงตัวแล้ว "พวกเขาไม่ได้สั่งซื้อถ่านหินและฟืนเพราะก๊าซเริ่มมีราคาแพงมาก พวกเขาสั่งเพราะกังวลว่าจะไม่มีอะไรเลย"
มาร์คุส ชทุมบอม กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเคหะ กล่าวว่า ในขณะที่อุปสงค์เครื่องทำความร้อนที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เขารู้สึกประหลาดใจในเรื่องที่การใช้ก๊าซถูกวิพากษ์วิจารณ์
“เมื่อพูดถึงก๊าซ ผมคิดเสมอว่าเทคโนโลยีนี้มีอนาคตแน่นอน เพราะผู้คนกำลังมองไปที่ก๊าซชีวภาพหรือก๊าซสังเคราะห์เช่นกัน แต่ตอนนี้ แน่นอน ทุกคนจำเป็นต้องเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องเครื่องทำความร้อน” ชทุมบอม กล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์)