ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย จะไม่นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอีกต่อไป ตามแนวทางที่บรรดาชาติยุโรปพยายามลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซียเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า สโลวะเกียยอมจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิลตามข้อกำหนดของทางรัสเซีย
อุลดิส บาริสส์ ซีอีโอของ Conexus Baltic Grid บริษัทผู้ดูแลคลังสำรองก๊าซธรรมชาติของลัตเวีย เปิดเผยในวันเสาร์ (2 เม.ย.) ว่า "ถ้ายังคงมีข้อสงสัยใดๆ ว่าอาจยังคงมีความเชื่อมั่นที่มีต่อก๊าซที่ส่งมอบมาจากรัสเซีย กรณีแวดล้อมปัจจุบันแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีความไว้วางใจอีกต่อไป"
"นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ก๊าซธรรมชาติของรัสเซียจะไม่ไหลเข้าสู่ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนียอีกต่อไป" เขาบอกกับสถานีวิทยุลัตเวีย พร้อมเผยว่าปัจจุบันตลาดบอลติกได้รับก๊าซธรรมชาติจากคลังสำรองก๊าซที่จัดเก็บไว้ใต้ดินในลัตเวีย
ความเคลื่อนไหวมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน หาทางใช้ประโยชน์จากสถานะมหาอำนาจทางพลังงานของรัสเซีย ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ
ในขณะที่เศรษฐกิจของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ปูตินเตือนบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรปว่าพวกเขาจำเป็นต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิล เพื่อจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย
ปูตินเตือนในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) ว่าสัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกระงับ หากไม่มีการชำระเงิน
แม้สหรัฐฯ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อียู ซึ่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราว 40% จากปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในปี 2014 ยังคงรับอุปทานจากมอสโก
กีตานาส เนาเซดา ประธานาธิบดีลิทัวเนีย เรียกร้องให้ชาติต่างๆ ที่เหลือในอียู ทำตามอย่างเหล่าประเทศในแถบบอลติก "นับตั้งแต่เดือนนี้ ไม่มีก๊าซธรรมชาติรัสเซียในลิทัวเนียอีกต่อไป" เขาเขียนบนทวิตเตอร์ "หลายปีก่อนประเทศของผมได้ตัดสินใจต่างๆ ที่สำคัญ ที่เปิดทางให้ในวันนี้ เราไม่ต้องเจ็บปวดกับการตัดความสัมพันธ์ทางพลังงานกับผู้รุกราน ถ้าเราทำได้ ประเทศที่เหลือในยุโรปก็สามารถทำได้เช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐมนตรีเศรษฐกิจของสโลวะเกีย อีกชาติสมาชิกอียู เปิดเผยว่าพวกเขาจะจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล หากมันช่วยป้อนก๊าซธรรมชาติสู่ประเทศของเขาต่อไปตามเดิม
ริชาร์ด ซูลิค รัฐมตรีเศรษฐกิจของสโลวะเกีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีแห่งชาติว่า "ถ้ามีเงื่อนไขให้จ่ายเป็นรูเบิล เมื่อนั้นเราก็จะจ่ายเป็นรูเบิล" ซูลิคกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนราว 85% ของอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของสโลวะเกีย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของประเทศจึงต้องมองความเป็นจริงในประเด็นนี้
"เราไม่สามารถตัดขาดก๊าซได้" ซูลิคเน้นย้ำ พร้อมเรียกร้องประเทศอื่นๆ ทั่วอียูหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน
เกือบทุกประเทศของสหภาพยุโรป กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเล่นงานรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว บั่นทอนศักยภาพของรัสเซียในการรับชำระเงินจากบรรดาประเทศคู่ค้าในรูปแบบสกุลเงินยูโร กระตุ้นให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตอบโต้ด้วยการลงนามในกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดกลไกการชำระเงินเป็นรูเบิล
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปูตินลงนามในกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง บังคับให้บรรดาผู้ซื้อในรายชื่อ "ประเทศไม่เป็นมิตร" จะต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลและสกุลเงินตราต่างประเทศกับธนาคารก๊าซพรอม สำหรับจ่ายค่าอุปทานก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ผู้ซื้อจะโอนเงินที่จะชำระไปยังบัญชีของก๊าซพรอมแบงก์ในรูปแบบสกุลเงินตราต่างประเทศ จากนั้นแบงก์แห่งนี้จะแปลงเป็นรูเบิล และโอนไปยังบัญชีสกุลเงินรูเบิลของผู้ซื้อ เพื่อจ่ายค่าก๊าซของรัสเซียต่อไป
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของปูติน ชี้แจงว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงโดยพฤตินัยสำหรับบรรดาบริษัทยุโรป พวกเขาจะจ่ายเงินอย่างที่เคยทำ ในสกุลเงินเดียวกับที่ระบุในสัญญา แต่ผู้ขาย ซึ่งก็คือก๊าซพรอม ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของรัสเซีย จะสามารถได้รับเงินชำระในรูปแบบของสกุลเงินรูเบิลของรัสเซีย"
แม้พยายามอธิบายกันยืดยาว พวกผู้ซื้อจำนวนมากต่างสับสนกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ปฏิกิริยาตอบสนองในเบื้องต้นส่วนใหญ่แล้วมาในแนวประเทศ หลายประเทศอ้างว่าพวกเขาจะไม่จ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล อย่างไรก็ตาม เวลานี้ดูเหมือนจะเริ่มเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว
(ที่มา : อัลจาซีราห์/รัสเซียทูเดย์)