รัฐบาลในกรุงเคียฟยังคงทำหน้าที่ได้ ระบบธนาคารมีเสถียรภาพและมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตามการรุกรานของรัสเซียอาจฉุดยูเครนเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จากคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในวันจันทร์ (14 มี.ค.) ขณะที่คู่สงครามอย่างรัสเซีย ออกมากล่าวหาตะวันตกว่าพยายามผลักพวกเขาเข้าสู่ภาวะ "ผิดนัดชำระหนี้เทียม" ผ่านมาตรการคว่ำบาตร แต่ประกาศว่าจะชำระหนี้ตามนัด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนด้วยว่าสงครามอาจก่อผลกระทบอย่างกว้างขวาง ในนั้นรวมถึงคุกคามความมั่นคงทางอาหารของโลก ด้วยการผลักราคาพุ่งสูงและเป็นอุปสรรคขัดขวางการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ โดยเฉพาะข้าวสาลี
"อย่างน้อยสุด ประเทศแห่งนี้อาจเห็นผลผลิตลดลง 10% ในปีนี้" ไอเอ็มเอฟระบุในบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นตามหลังการรุกรานของยูเครน ทั้งนี้ แม้ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าการคาดการณ์ต่างๆ นั้นมีความไม่แน่นอนอย่างมหาศาล แต่หากความขัดแย้งลากยาว สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลง
ไอเอ็มเอฟอ้างข้อมูลในช่วงเวลาสงครามของความขัดแย้งต่างๆ ทั้งในอิรัก เลบานอน ซีเรียและเยเมน ระบุวา "ท้ายที่สุดแล้วการหดตัวของผลผลิตอาจสูงกว่านี้มา ในขอบเขตราวๆ 25-35%"
เศรษฐกิจของยูเครนขยายตัว 3.2% ในปี 2021 ท่ามกลางการเก็บเกี่ยวพืชผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์และการใช้จ่ายผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง
ทว่าตามหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ "เศรษฐกิจในยูเครนเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตื่นตะลึง" จากคำกล่าวของวลาดีสลาฟ รัชโควาน กรรมการบริหารสำรองในด้านยูเครน ของบอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟกล่าว "ในนั้นรวมถึงโรงพยาบาล โรงเรียน และบ้านเรือนถูกทำลายล้าง เช่นเดียวกับท้องถนนหลายสิบกิโลเมตร วัตถุของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ เหลือคณานับ"
โอเลฟ อุสเทนโก ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณการว่าเวลานี้มูลค่าความเสียหายจากสงครามแตะระดับ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของรัสเซียเองเจอผลกระทบสาหัสไม่แพ้กัน โดยในวันจันทร์ (14 มี.ค.) มอสโกกล่าวหาว่าตะวันตกกำลังหาทางผลักพวกเขาสู่ภาวะ "ผิดนัดชำระหนี้เทียม" ผ่านมาตรการคว่ำบาตรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กรณีรุกรานยูเครน แต่ประกาศกร้าวว่าจะชำระหนี้ตามนัด
รัสเซียมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหนี้ภายนอกประเทศของพวกเขาในช่วงปลายสัปดาห์นี้ และมอสโกเตือนว่าจะจ่ายในรูปแบบสกุลเงินรูเบิล หากว่ามาตรการคว่ำบาตรส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัสเซีย
ถ้อยแถลงของกระทรวงการคลังรัสเซียระบุว่า รัสเซียมีเงินเพียงพอสำหรับชำระหนี้ และวิพากษ์วิจารณ์การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและพันธมิตรที่สั่งอายัดบัญชีสกุลเงินฝากต่างประเทศของรัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซีย ว่าจงใจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้
ส่วน แอนตอน ซิลูยานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุในถ้อยแถลงว่า "การอายัดบัญชีเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียและของรัฐบาลรัสเซีย สามารถถูกมองในฐานะความปรารถนาของต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ต้องการจัดฉากผิดนัดชำระหนี้เทียม ที่ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่แท้จริงใดๆ"
ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของรัสเซียเป็นอันดับ “ขยะ” หรือหมายถึงจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ พร้อมเตือนว่าการตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนมุมมองที่ว่าการผิดนัดชำระหนนี้ "จวนเกิดขึ้นแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ซิลูยานอฟ ออกมาปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ว่ารัสเซียจะไม่สามารถทำตามพันธสัญญาชำระหนี้ของรัฐบาล เขาบอกว่ารัสเซีย "พร้อมจ่ายในรูปแบบของรูเบิล"
สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของพันธมิตรชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งหมายรวมถึงการตัดธนาคารสัญชาติรัสเซียหลายแห่งออกจากระบบ SWIFT จนกระทบต่อการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจรัสเซียกับต่างประเทศ
เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้และนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อพันธบัตรหรือลงทุนในบริษัทชั้นนำของรัสเซีย โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงานอย่าง Rosneft และ Gazprom ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จึงได้ลงนามในกฤษฎีกาเปิดทางบังคับใช้มาตรการแก้ไขชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหลายบริษัทและรัฐวิสาหกิจที่มีกำหนดครบวาระชำระหนี้ในเร็ววันนี้
ภายใต้กฤษฎีกาฉบับใหม่ที่ลงนามบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม กำหนดให้รัฐบาลและบริษัทสัญชาติรัสเซียสามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ต่างชาติจาก ‘ประเทศที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นปรปักษ์’ กับรัสเซีย ด้วยสกุลเงินรูเบิลได้
มาตรการชั่วคราวในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้รัสเซียเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ท่ามกลางการคว่ำบาตรที่จำกัดการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนที่หมุนเวียนเข้าและออกรัสเซีย
ปูตินกำลังหาทางปรับปรุงการเงินของรัสเซีย ด้วยการคงหนี้สินในระดับต่ำและใช้รายได้มหาศาลอย่างคาดไม่ถึงจากการส่งออกน้ำมัน ระดมทุนสำรองระหว่างประเทศ 600,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน ได้เล็งเป้าเล่นงานทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่ถือครองอยู่ในต่างแดน จำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์ และหากไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเหล่านี้เพื่อชำระเงิน รัสเซียอาจพบว่าตนเองถูกบีบให้เข้าสู่ภาวะผิดน้ำชำระหนี้ แม้ว่าสถานะชำระหนี้ในวันพุธนี้ (16 มี.ค.) ยังไม่แน่นอน
พวกนักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน มองว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ "ไม่ได้กำหนดข้อจำกัดโดยตรง" ต่อความสามารถในการใช้หนี้ของรัสเซีย เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดโดยวอชิงตัน เป็นการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินเป็นส่วนใหญ่ และมีข้อยกเว้นบางอย่าง ในนั้นรวมถึงชำระค่าพลังงาน
(ที่มา : เอเอฟพี)