xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ตะวันตกยอมกลืนเลือดคว่ำบาตร ‘น้ำมันรัสเซีย’ ด้าน 'ผู้นำยูเครน' แบะท่าถอดใจไม่เข้าร่วม ‘นาโต’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐอเมริกาจับมือชาติพันธมิตรตะวันตกประกาศคว่ำบาตร “น้ำมัน” ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจรัสเซียในสัปดาห์นี้ เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการรุกรานยูเครนซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ขณะที่ผู้นำยูเครนเริ่มส่งสัญญาณประนีประนอม โดยระบุจะไม่ดึงดันนำประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) อีกต่อไป หลังสหรัฐฯ และนาโตเผยท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการที่จะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียในสงครามครั้งนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยกย่องมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันว่าเป็น “การโจมตีเส้นเลือดใหญ่” ของเศรษฐกิจแดนหมีขาว และพุ่งเป้าไปยังแหล่งรายได้หลักของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พร้อมกับย้ำว่า ปูติน “ไม่มีวันได้ชัยชนะ” จากการบุกยูเครน

รัฐบาลอังกฤษเตรียมทยอยลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียให้เหลือเป็น “ศูนย์” ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างบีพี และเชลล์ ประกาศหยุดซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียทันที ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) มีแผนที่จะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซียลง 2 ใน 3

รองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัค ของรัสเซีย เตือนว่าราคาน้ำมันอาจจะพุ่งกว่า 2 เท่าตัวเป็น 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากวอชิงตันและพันธมิตรแบนการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย แต่นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา แย้งว่า ถ้าการส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ของรัสเซียถูกระงับ ตลาดอาจขาดแคลนน้ำมันราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นไปอยู่ที่ไม่เกิน 200 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุที่สหรัฐฯ กล้าที่จะเป็นผู้นำคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียก็เพราะว่าอเมริกามีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันและปิโตรเลียมจากแดนหมีขาวไม่ถึง 10% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งทำให้ผลกระทบไม่ได้รุนแรงจนเกินไปนัก

ไบเดน ยืนยันว่า สหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง แลผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียราว 17,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว มีการ “ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิด” กับชาติพันธมิตร โดยเฉพาะยุโรปซึ่งพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 40% ของความต้องการทั้งหมด

ขณะเดียวกัน วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการเมือง ยืนยันกับวุฒิสภาว่าโครงการท่อส่งก๊าซ “นอร์ด สตรีม 2” ซึ่งลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าไปยังเยอรมนี อยู่ในสถานะ “ตายสนิท” และจะไม่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศนโยบายแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียที่ห้องรูสเวลต์ภายในทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 8 มี.ค.
วิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในยูเครนบีบให้ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัสเซีย โดยแมคโดนัลด์ โคคา-โคลา เป๊ปซี่ สตาร์บัคส์ และไฮเนเก้น เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่รายล่าสุดที่หยุดดำเนินกิจการในแดนหมีขาวแล้วในสัปดาห์นี้ ขณะที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ (Fitch) ได้ปรับลดเรตติ้งของรัสเซียจาก B ลงมาสู่ C ซึ่งถือเป็นระดับ “ขยะ” (junk) เมื่อวันอังคาร (8) พร้อมเดือนว่า “มีความเสี่ยงสูง” ที่รัสเซียอาจจะผิดนัดชำระหนี้

ค่าเงินรูเบิลรัสเซียร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 117 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ (9) ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียออกประกาศให้ธนาคารต่างๆ หยุดขายเงินสกุลต่างประเทศไปจนถึงวันที่ 9 ก.ย. แต่ยังคงอนุญาตให้ชาวรัสเซียนำเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินรูเบิลได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการถอนเงินต่างประเทศออกจากบัญชีธนาคารในรัสเซียก็จะถูกจำกัดไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ จนกระทั่งถึงวันที่ 9 ก.ย. เช่นกัน

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงในสัปดาห์นี้ว่า มีชาวยูเครนหลบหนีไฟสงครามออกนอกประเทศแล้วมากกว่า 2.2 ล้านคน นับเป็นวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในยุโรปที่ทวีความรุนแรงเร็วที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

รัสเซียได้ประกาศหยุดยิงและเปิดเส้นทางอพยพให้แก่พลเรือนจากหลายเมืองใหญ่ของยูเครน แต่ปรากฏว่าการอพยพส่วนใหญ่นั้นล้มเหลว โดยฝ่ายรัสเซียโทษว่ายูเครนทำผิดสัญญา ขณะที่เคียฟกล่าวหามอสโกว่ายิงโจมตีพลเรือนที่กำลังหลบหนี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

มารียูปอล (Mariupol) ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ถูกตัดทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และระบบทำความร้อนมานานร่วมสัปดาห์ และมีรายงานว่าเด็กหญิงวัย 6 ขวบที่ชื่อ “ทันยา” ต้องเสียชีวิตลงด้วยอาการขาดน้ำ ขณะติดอยู่ใต้ซากบ้านที่ถูกทำลาย

“ในช่วงนาทีสุดท้ายของชีวิต เธอต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว หมดแรง หวาดกลัว และหิวกระหายอย่างยิ่ง” วาดิม บอยเชนโก นายกเทศมนตรีมารียูปอล โพสต์ข้อความผ่านแอปเทเลแกรม

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องในวันพุธ (9) ให้มหาอำนาจตะวันตกรีบตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอของโปแลนด์ที่จะส่งเครื่องบินรบช่วยยูเครน โดยกล่าวผ่านคลิปวิดีโอว่า “พวกคุณจะตัดสินใจกันไหม? เรากำลังเผชิญสงครามอยู่นะ”

“เราขอร้องพวกคุณอีกครั้ง ช่วยตัดสินใจโดยเร็วที่สุด โปรดส่งเครื่องบินมาให้เรา”

รัฐบาลโปแลนด์ยื่นข้อเสนอเมื่อวันอังคาร (8) ว่าจะส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ที่ผลิตโดยรัสเซียไปยังฐานทัพอากาศรัมสไตน์ (Ramstein) ของสหรัฐฯ ในเยอรมนี เพื่อให้อเมริกาเป็นผู้พิจารณาจัดส่งไปช่วยยูเครนต่อต้านการบุกของรัสเซีย พร้อมทั้งเสนอให้วอชิงตันส่งมอบเครื่องบินขับไล่ F-16 มาทดแทนให้แก่โปแลนด์

แม้สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงระบบขีปนาวุธต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยานให้แก่ยูเครน แต่ยังคงยืนกรานปฏิเสธที่จะส่งเครื่องบินขับไล่เข้าไป เพราะเกรงจะเป็นการดึงชาตินาโตทั้งหมดเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี ระบุในงานแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลินร่วมกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา โดยยืนยันว่าทั้ง 2 ชาติ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอของโปแลนด์

ผู้นำเยอรมนีย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ยูเครน “มากพอสมควร” แล้ว รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและอาวุธบางชนิด “แต่ถ้าจะให้ทำมากกว่านั้นเราก็คงต้องคิดให้รอบคอบ และแน่นอนว่าไม่ใช่การส่งเครื่องบินขับไล่”

ทางด้าน ทรูโด ก็เตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการยกระดับหรือขยายพื้นที่สงคราม

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน
นาโตแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการทำสงครามโดยตรงกับชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างรัสเซีย ขณะที่ ไบเดน ก็ปฏิเสธที่จะส่งทหารอเมริกันเข้าไปรบในยูเครน ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้แจงว่าหมายถึงกองกำลังทั้งทางบกและทางอากาศ

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกเพนตากอน วิจารณ์ข้อเสนอของโปแลนด์ว่า “ไม่สมเหตุสมผล” และ “ไม่สามารถทำได้จริง” พร้อมย้ำว่าการส่งเครื่องบินขับไล่จากประเทศนาโตเข้าไปยังพื้นที่สงคราม “จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อกลุ่มนาโตทั้งหมด”

รัฐบาลทั้ง 2 ฟากฝั่งแอตแลนติกยังปฏิเสธข้อเรียกร้องของยูเครนที่ให้มีการประกาศ “เขตห้ามบิน” เหนือน่านฟ้ายูเครน ขณะที่ ปูติน ขู่ไว้แล้วว่ารัสเซียจะถือว่าชาติไหนก็ตามที่ทำเช่นนั้น “แสดงเจตนาเข้าร่วมในสงคราม” ด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนเริ่มมีท่าทีอ่อนลงในเรื่องของการเข้าเป็นสมาชิกนาโต โดย เซเลนสกี ระบุผ่านบทสัมภาษณ์กับเอบีซีนิวส์ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันจันทร์ (7 มี.ค.) ว่า เขาจะไม่เดินหน้ากดดันนาโตให้รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอักต่อไปแล้ว และยังเปิดกว้างสำหรับการเจรจาประนีประนอมในประเด็นสถานะของ 2 แคว้นกบฏที่ฝักใฝ่รัสเซีย

เซเลนสกี บอกว่าเขาเริ่ม “ใจเย็นลง” เกี่ยวกับประเด็นคำถามนี้มาสักพักแล้ว หลังจากที่ตระหนักว่านาโต “ไม่พร้อมอ้าแขนรับยูเครน" และยังหวาดกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียในประเด็นขัดแย้งต่างๆ

เซเลนสกี ระบุด้วยว่า เขาไม่ต้องการเป็นประธานาธิบดีที่ต้อง “คุกเข่าอ้อนวอน” ขออะไรบางอย่างจากใคร

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นาโตมีการขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ จนครอบคลุมบรรดาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งรัสเซียมองว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของนาโตเป็น “ภัยคุกคาม” และเสมือนเป็นการจัดวางกำลังทหารไว้ที่บันไดหน้าบ้านของพวกเขา

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินว่ามีทหารรัสเซียถูกสังหารไปแล้ว 2,000-4,000 นายนับตั้งแต่ ปูติน สั่งบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ขณะที่ทำเนียบเครมลินออกมาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ว่า เพิ่งจะสูญเสียทหารไปแค่ 498 นาย

เวลานี้ทหารรัสเซียค่อยๆ ตีวงโอบล้อมกรุงเคียฟ และรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านตะวันออกและด้านเหนือ แม้จะเผชิญการต่อต้านที่หนักหน่วงจากกองทัพยูเครนก็ตาม

ผู้ชายยูเครนในกรุงเคียฟส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารเพื่อจับอาวุธสู้กับรัสเซีย ทำให้มีผู้หญิงหลายพันคนถูกทิ้งให้ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง และบางคนต้องอาศัยอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นที่หลับนอนเพื่อหนีอันตรายจากกระสุนปืนและระเบิด

ข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า มีเด็กทารกที่เกิดในบังเกอร์หรือที่หลบระเบิดในกรุงเคียฟแล้วอย่างน้อย 81 คน โดย 5 คนเกิดในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะที่ยูเอ็นระบุว่ายอดพลเรือนที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้มีไม่ต่ำกว่า 474 ราย ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะสูงกว่านี้มาก

เครื่องบินขับไล่ MiG-29 ของกองทัพอากาศโปแลนด์ (แฟ้มภาพ – รอยเตอร์)

ซากอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งในเมืองคาร์คีฟซึ่งถูกทหารรัสเซียยิงโจมตีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.

ตำรวจยูเครนนายหนึ่งกล่าวอำลาลูกชาย ขณะที่ครอบครัวของเขาเตรียมอพยพหนีการรุกคืบของทหารรัสเซียที่เมืองเออร์พิน ใกล้กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น