บรรดานักวิทยาศาสตร์ในนิวซีแลนด์ พบลูกปลาคิเมียรา (chimaera) หรือที่รู้จักกันในนามของ "ฉลามผี" (ghost shark) สัตว์น้ำลึกลับใต้ทะเลลึกที่น้อยคนจะรู้จัก ซึ่งพวกเขาบอกว่าการค้นพบครั้งนี้อาจมอบองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ลี้ลับสายพันธุ์นี้
ฉลามผีตัวนี้ถูกพบลึกลงไปใต้ทะเลราว 1,200 เมตร ในแถบแชธัมไรซ์ (Chatham Rise) พื้นที่หนึ่งของก้นมหาสมุทร นอกชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์
"การพบเจอยากมากๆ นี้เกิดขึ้นระหว่างการสำรวจหนึ่งเมื่อไม่นานที่ผ่านมา" สถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (15 ก.พ.)
ฉลามผี เป็นสัตว์ทะเลลึก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ ปลาคิเมียรา นอกจากนี้ มันยังถูกเรียกด้วยชื่ออื่นๆ อย่าง rat fish และ spook fish หรือ rabbit fish ขณะที่ฉลามผีมีความเกี่ยวพันธ์เป็นญาติห่างๆ กับฉลามและปลากระเบน
ทั้งนี้ ฉลามผีเป็นปลากระดูกอ่อน จึงทำให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกตา และบอบบาง พวกมันไม่ใช่ปลาฉลามที่เราพบเห็นได้ทั่วไป
หลังจากปฏิสนธิ ตัวอ่อนของฉลามผีจะพัฒนาอยู่ในเปลือกหุ้มไข่ที่แม่ปลาวางไว้ก้นทะเล และพวกมันจะกินไข่แดงที่อยู่ในไข่จนกว่าจะพร้อมฟักตัวออกมา
"สามารถบอกได้ว่าลูกปลาตัวนี้เพิ่งฟักออกจากไข่ เพราะในท้องยังเต็มไปด้วยไข่แดง" บริท ฟินุชชิ นักวิทยาศาสตร์ด้านการประมง ส่วนหนึ่งในทีมงานที่พบปลาตัวดังกล่าว ระบุในถ้อยแถลง "มันน่าประหลาดมาก ตามปกติสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกมักพบเห็นได้ยากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉลามผีที่มักใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ดังนั้น เราจึงไม่ได้พบเห็นพวกมันบ่อยนัก" เธอกล่าวกับบีซีซี
ฟินุชชิ บอกอีกว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้เรามีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์ของปลาหายากชนิดนี้ ซึ่งจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย "ลูกปลาอาจมีถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างออกไป พวกมันยังกินอาหารต่างชนิดกัน อีกทั้งยังมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากปลาโตเต็มวัยด้วย"
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฉลามผีที่ทีมงานพบนั้นเป็นสายพันธุ์ใด และทาง ฟินุชชิ บอกว่าการตรวจและวิเคราะห์พันธุกรรมเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็น
ฟานุชชี ระบุว่า ขั้นตอนแรกหลังจากการค้นพบครั้งนี้ คือการค้นหาว่าลูกฉลามผีตัวนี้เป็นชนิดพันธุ์อะไร โดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ และตรวจสอบทางพันธุกรรม ตลอดจนการวัดขนาดตัว และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของปลา
ฉลามผีมีอยู่หลายชนิดพันธุ์ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก แต่มีบางชนิดที่ชอบอยู่บริเวณน้ำตื้นตามแนวชายฝั่งด้วย
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น/บีบีซี)