xs
xsm
sm
md
lg

WHO เตือน ‘ขยะทางการแพทย์’ ที่เหลือจากโควิดก่อความเสี่ยงต่อมนุษย์-สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือน “ขยะทางการแพทย์” ปริมาณมหาศาลที่เหลือทิ้งจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเข็มฉีดยา ชุดตรวจ และวัคซีนที่หมดอายุ กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อความเสี่ยงต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

รายงานซึ่งเผยแพร่วานนี้ (1 ก.พ.) ระบุว่า ขยะเหลือทิ้งเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเสี่ยงได้รับอันตรายจากการถูกเผาไหม้ การบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา รวมถึงการสัมผัสกับเชื้อก่อโรคต่างๆ

“เราพบว่าโควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 10 เท่าตัว” แมกกี มอนต์โกเมอรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของ WHO ให้สัมภาษณ์สื่อที่นครเจนีวา

เธอระบุด้วยว่า ชุมชนเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารพิษก่อมะเร็ง (carcinogens) ในอากาศ ซึ่งเกิดจากการที่ขยะติดเชื้อเหล่านี้ถูกเผาด้วยความร้อนที่ไม่สูงพอ

WHO ประเมินว่า นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มอุบัติขึ้นจนกระทั่งถึงเดือน พ.ย. ปี 2021 มีชุดป้องกัน (PPE) ถูกจัดส่งไปยังประเทศต่างๆ มากถึง 87,000 ตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนักของ “วาฬสีน้ำเงิน” หลายร้อยตัวรวมกัน และส่วนใหญ่จะกลายเป็นขยะ

รายงานยังระบุด้วยว่า ชุดตรวจโควิด 140 ล้านชุดจะก่อให้เกิดขยะพลาสติกมากถึง 2,600 ตัน และก่อขยะเคมีในปริมาณเทียบเท่า 1 ใน 3 ของสระว่ายน้ำโอลิมปิก ส่วนวัคซีนราว 8,000 ล้านโดสที่ถูกใช้ไปแล้วทั่วโลกก็ยังก่อขยะจำพวกหลอดแก้ว หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา และกล่องนิรภัยอีกประมาณ 144,000 ตัน

WHO เรียกร้องให้มีการปฏิรูปและลงทุนเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก รวมถึงผลิตอุปกรณ์ป้องกันที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลหรือสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น