xs
xsm
sm
md
lg

หวดเทนนิสแบบรักษ์โลก "อาดิดาส" สร้างสนามลอยน้ำจาก "พลาสติกรีไซเคิล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาดิดาส แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ระดับโลก สร้างสนามเทนนิสลอยน้ำจาก พลาสติกรีไซเคิล เหนือแนวปะการัง Great Barrier Reef

Parley for the Oceans องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ Adidas ในการออกแบบ และสร้างสนามเทนนิสที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และให้ลอยอยู่เหนือ Great Barrier Reef แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เพื่อสร้างความตระหนักถึงขยะพลาสติกในมหาสมุทร และหลังการแข่งขัน Parley และ Adidas ได้บริจาคสนามเทนนิสให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นเพื่อให้ต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเทนนิสในปี 2022 ของ Adidas ยังได้รับการออกแบบโดยใช้พลาสติกรีไซเคิลจากมหาสมุทรของ Parley และได้แรงบันดาลใจจากสีที่พบในแนวปะการัง Great Barrier Reef นับเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายของบริษัทในการช่วยยุติขยะพลาสติก และยกเลิกการใช้โพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ภายในปี 2025

แชนนอน มอร์แกน ผู้อำนวยการอาวุโส สาขาแปซิฟิกของ Adidas กล่าวถึงการใช้พลาสติกรีไซเคิลของบริษัทว่า "เรารวบรวมพลาสติกจากชุมชนริมชายฝั่งก่อนที่มันจะลงเอยในมหาสมุทร และเปลี่ยนให้เป็นเส้นด้าย นักกีฬาของเราในสนามที่ Australian Open สวมเสื้อผ้าเหล่านี้ เรากำลังใช้การแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในทวีปของเรา เพื่อแสดงถึงความงดงามของแนวปะการังอย่างแท้จริง”

รายงาน THAIHEALTH WATCH 2021 พบว่า ปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากทุกๆ ปีจะมีขยะพลาสติก 12 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทร โดยมีเพียง 5% ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือจมอยู่ใต้น้ำหรือถูกกระแสน้ำพัดไปอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก โดยในปี 2562 มีหลักฐานการพบเศษขยะทะเลพลาสติกอยู่ที่ก้นร่องลึกก้นสมุทรมาเรียน่า (Mariana Trench) ซึ่งเป็นร่องสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ที่ระดับ 11 กิโลเมตรต่ำกว่าระดับทะเล

นอกจากนี้ รายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสมาคมการศึกษาทางทะเล (Sea Education Association) ในรัฐแมสซาชูเซทส์สหรัฐฯ ที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science Advances ระบุว่า ขยะพลาสติก 6,300 ล้านตันที่ทิ้งในปี พ.ศ. 2558 มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล 12% ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือ 79% ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

หากการผลิตพลาสติก และแนวโน้มการกำจัดของเสียยังคงดำเนินเช่นปัจจุบัน จะมีพลาสติกปริมาณ 1.2 หมื่นล้านตันที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือมีน้ำหนักเทียบเท่ากับวาฬสีน้ำเงิน 100 ล้านตัว หรือคิดเป็น 5,000 เท่าของประชากรวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น