xs
xsm
sm
md
lg

ความสูญเสียมหึมาจากภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรงในรอบปี 2021 เกี่ยวข้องกับปัญหา ‘โลกร้อน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พายุเฮอร์ริเคน “ไอดา” ที่ถล่มสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2021 ทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล
ภัยพิบัติธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้ ทำให้ประชาชนนับล้านทั่วโลกเผชิญความเดือดร้อนลำบาก โดยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางการเงินมากที่สุดคือ เฮอร์ริเคนไอดาที่ถล่มอเมริกาในเดือนสิงหาคม และอุทกภัยในยุโรปในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ปี 2021 ยังมีแนวโน้มเป็นปีที่ 4 ใน 5 ปีที่ภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลกสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์

งานศึกษาจาก “มูลนิธิคริสเตียนเอด” ระบุ 10 เหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงที่แต่ละเหตุการณ์สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ แม้ภัยพิบัติธรรมชาติไม่ได้เกิดจากหรือเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสมอไป กระนั้น นักวิจัยมีความมุ่งมั่นมากขึ้นที่จะค้นหาความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้

ดร.ฟรีเดริก ออตโต หนึ่งในนักวิจัยชั้นนำทวิตเมื่อต้นปีว่า คลื่นร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกครั้งในขณะนี้มีแนวโน้มมากขึ้นและชัดเจนขึ้นว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นฝีมือมนุษย์

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานชัดเจนขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับพายุและเฮอร์ริเคนด้วย

เดือนสิงหาคม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) เผยแพร่รายงานการประเมินส่วนแรกจากทั้งหมด 6 ส่วน โดยในรายงานนั้นผู้เขียนระบุว่า มั่นใจอย่างยิ่งว่า หลักฐานเกี่ยวกับอิทธิพลของมนุษย์มีความชัดเจนขึ้น

“สัดส่วนของพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรง ความเร็วลมสูงสุดเฉลี่ยของพายุหมุนเขตร้อน และความเร็วลมสูงสุดของพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุดจะเพิ่มขึ้นในระดับโลกพร้อมกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น” รายงานระบุ

หลังจากรายงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกมาไม่กี่สัปดาห์ เฮอร์ริเคนไอดาเข้าถล่มอเมริกา ซึ่งคริสเตียนเอด ระบุว่า เป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่ทำให้เกิดผลกระทบทางการเงินมากที่สุดประจำปีนี้

เฮอร์ริเคนที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ลูกนี้ทำให้ประชาชนหลายพันคนในรัฐลุยเซียนาต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ทำให้ฝนตกหนักในหลายรัฐและหลายเมือง และนิวยอร์กออกประกาศเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันฉุกเฉินเป็นครั้งแรก

ไอดาทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 95 คน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 65,000 ล้านดอลลาร์

ภัยพิบัติธรรมชาติที่สร้างความเสียหายทางการเงินอันดับที่ 2 คือ เหตุการณ์น้ำท่วมทั่วเยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรปในเดือนกรกฎาคม

ความเร็วและความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำทำให้ระบบป้องกันรับมือไม่อยู่ มีผู้เสียชีวิต 240 คน และสร้างความเสียหายราว 43,000 ล้านดอลลาร์

ภัยพิบัติธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ระบุในงานศึกษานี้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีความเป็นไปได้ในการประเมินความเสียหายทางการเงินจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมากกว่า และปกติประเทศรวยซึ่งประชาชนและภาคธุรกิจสามารถจ่ายเงินซื้อประกันภัยบ้านและสถานประกอบการได้ มักมีข้อมูลเหล่านี้

จากข้อมูลของบริษัทประกันภัย เอออน ปี 2021 มีแนวโน้มเป็นปีที่ 4 ใน 5 ปีที่ภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลกสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์

รายงานยังกล่าวถึงหลายเหตุการณ์ที่สืบค้นผลกระทบทางการเงินได้ยาก แต่ผลกระทบที่เกิดกับผู้คนปรากฏชัดเจน

ตัวอย่างเช่น อุทกภัยในซูดานใต้ทำให้ประชาชนกว่า 800,000 คนไร้บ้าน ขณะที่ประชาชน 200,000 คนต้องหนีเอาชีวิตรอดจากไซโคลนเตาะแต่ที่ถล่มอินเดีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์เมื่อเดือนพฤษภาคม

ดร.แคต เครเมอร์ จากคริสเตียนเอดระบุว่า การสูญเสียบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ ซ้ำไม่มีทรัพยากรสำหรับการฟื้นฟูเป็นความยากลำบากแสนสาหัสและเป็นผลกระทบใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ

รายงานเน้นย้ำความจำเป็นในการเพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเรียกร้องให้นักการทูตด้านสภาพภูมิอากาศลงมือทำมากกว่าพูด และช่วยประเทศยากจนที่เผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ในการเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลก คอป 26 ที่กลาสโกว์เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศต่างๆ มีความเห็นขัดแย้งกันอย่างมากในประเด็นการสนับสนุนทางการเงินสำหรับความเสียหายและการสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินสด ขณะที่ประเทศมั่งคั่งเห็นว่า ต้องหารือกันเพิ่มเติม

นุชราต ชอดุล ที่ปรึกษาด้านความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในบังกลาเทศของคริสเตียนเอด ทิ้งท้ายว่า แม้ความสูญเสียและความเสียหายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในคอป 26 แต่น่าผิดหวังที่การประชุมจบลงโดยไม่มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ต้องสูญเสียอย่างถาวรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(ที่มา : บีบีซี)


กำลังโหลดความคิดเห็น