ผู้สมัครซึ่งมีจุดยืนโปรปักกิ่งคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ซึ่งมีกระบวนการคัดกรองให้เหลือเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติ “รักชาติ” เท่านั้น ขณะที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ผลการนับคะแนนล่าสุด พบว่า ผู้สมัครสายโปรจีนและสนับสนุนกลุ่มเอสแทบลิชเมนต์กวาดที่นั่งในสภานิติบัญญัติได้เกือบทั้งหมด ขณะที่ยอดผู้ออกมาใช้สิทธิต่ำเพียง 30.2% หรือราวๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2016
สแตร์รี ลี หัวหน้าพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อสิ่งที่ดีกว่าและความก้าวหน้าของฮ่องกง (Democratic Alliance for the Betterment and Progress of Hong Kong - DAB) ซึ่งจุดยืนโปรปักกิ่ง ออกมาปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคของเธอไม่ได้รับ “อาณัติ” จากประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่าการปฏิรูประบบเลือกตั้งตามพิมพ์เขียวของจีนเพื่อให้เหลือแต่ผู้สมัครที่ “รักชาติ” นั้นจะช่วยยกระดับธรรมาภิบาล
“ดิฉันไม่เชื่อว่า (การที่คนออกมาใช้สิทธิน้อย) เป็นเพราะพลเมืองไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งนี้ แต่เราจำเป็นต้องให้เวลาประชาชนปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่” ลี ให้สัมภาษณ์สื่อที่ศูนย์นับคะแนนเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สมัครที่เรียกตัวเองว่า “สายกลาง” รวมถึง เฟรเดอริค ฟุง (Frederick Fung) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในช่วงที่ฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ก็ล้วนแต่ “สอบตก” กันถ้วนหน้า
“ผมมองว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบังคับประชาชน ผมคิดว่าพวกเขาเริ่มรู้สึกไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เป็นอยู่” ฟุง ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
สำหรับสถิติผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำสุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2000 หลังจากที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน โดยปีนั้นมีชาวฮ่องกงออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 43.6%
ระบบเลือกตั้งซึ่งคัดกรองเฉพาะผู้สมัครที่ “รักชาติ” ในสายตาปักกิ่งถูกนักเคลื่อนไหว รัฐบาลต่างชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าเป็นการก้าวถอยหลัง (regressive) เนื่องจากพรรคการเมืองกระแสหลักซึ่งมีนโยบายส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยถูกกีดกันไม่ให้ลงแข่งขัน ขณะที่นักเคลื่อนไหวบางคนซึ่งตั้งใจจะลงสมัครก็ถูกดำเนินคดีและจำคุกภายใต้กฎหมายความมั่นคง และอีกไม่น้อยที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ
ภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่นี้ จีนได้ลดสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่จะถูกเลือกทางตรง จากเดิมครึ่งหนึ่งเหลือแค่ไม่ถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 20 ที่นั่ง ส่วนอีก 40 ที่นั่งจะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการซึ่งเต็มไปด้วยผู้ที่จงรักภักดีต่อจีน และอีก 30 ที่นั่งจะมาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคธุรกิจ
แม้จะมีเสียงติติงจากผู้สังเกตการณ์ว่ายอดผู้ใช้สิทธิที่ต่ำทุบสถิตินี้อาจส่งผลต่อความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติ แต่ แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ยืนยันว่าจำนวนบัตรลงคะแนนราว 1.3 ล้านใบนั้น “สะท้อนการสนับสนุนระบบเลือกตั้งที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น”
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหวารายงานวันนี้ (20) ว่า รัฐบาลจีนได้ออกสมุดปกขาว (white paper) ยืนยันว่าให้การสนับสนุนฮ่องกงพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของตัวเอง
ที่มา : รอยเตอร์