ตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” โผล่ที่อินโดนีเซียเป็นรายแรก ซึ่งไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนมาเลเซียออกมาตรการใหม่มุ่งสกัดหลังพบผู้ติดเชื้อนี้คนที่ 2 ด้านอังกฤษมีผู้ติดโควิด-19 รายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาดใหญ่ หลังต้องเผชิญทั้ง “เดลตา” และ “โอมิครอน” ซึ่งแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วมาก ขณะที่หมอใหญ่อเมริกายันวัคซีนกระตุ้นที่มีอยู่รับมือโอมิครอนได้ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาบูสเตอร์ใหม่มาจัดการไวรัสสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ
ในวันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) ไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย ออกประกาศใช้มาตรการใหม่เพื่อสกัดโควิด-19 โดยรวมถึงการห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขนาดใหญ่ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมฉลองคริสต์มาส และปีใหม่เป็นกลุ่มเฉพาะก็ต้องตรวจโควิดก่อน
นอกจากนั้น ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ซึ่งผลศึกษาระบุว่า สร้างแอนติบอดี้ไม่เพียงพอต่อสู้กับโอมิครอนได้เช่นเดียวกับวัคซีนของไบโอเอ็นเทคนั้น ต้องเข้ารับการฉีดกระตุ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้มีสถานะ “ฉีดวัคซีนครบแล้ว” โดยรอยเตอร์รายงานว่า สิงคโปร์กำลังพิจารณาใช้นโยบายนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนคนที่ 2 ที่พบในมาเลเซีย เป็นเด็กวัย 8 ปีที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวจากไนจีเรีย โดยแวะที่กาตาร์ ส่วนสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้โดยสาร 35 คนในเที่ยวบินเดียวกัน ผลตรวจโควิดออกมาเป็นลบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังกำลังตรวจสอบผู้ต้องสงสัยติดโอมิครอนอีก 18 คน คาดว่าจะรู้ผลในวันศุกร์ (17)
มาเลเซียรายงานพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกตอนต้นเดือนนี้ โดยเป็นนักเดินทางจากแอฟริกาใต้
วันเดียวกันนั้น บูดี กูนาดี รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียแถลงว่า พบผู้ติดโอมิครอนคนแรกของประเทศเมื่อค่ำวันพุธ (15) เป็นพนักงานโรงพยาบาลวิสมา แอตเล็ตในจาการ์ตา ซึ่งไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี กูนาดียืนยันว่า ยังไม่พบการระบาดในชุมชน แต่มีผู้ต้องสงสัยติดโอมิครอนอีก 5 คนที่กำลังรอผลการวิเคราะห์เพิ่มเติม ประกอบด้วย ชาวอินโดนีเซีย 2 คนที่เดินทางกลับจากอเมริกาและอังกฤษ และชาวจีน 3 คนที่กักตัวอยู่ในเมืองมานาโดของจังหวัดสุราเวสีใต้ขณะนี้
ที่เกาหลีใต้ รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พุ่งไม่หยุด หลังจากมีการผ่อนคลายและปรับมาใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิดเพียงเดือนครึ่ง
เจ้าหน้าที่แถลงเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า มาตรการใหม่ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันเสาร์นี้ (18) จนถึงวันที่ 2 มกราคมปีหน้า มีดังเช่น การจำกัดการรวมกลุ่มไม่ให้เกิน 4 คน เว้นแต่ฉีดวัคซีนครบแล้ว การบังคับให้ร้านอาหาร ร้านกาแฟ บาร์ปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. และ 22.00 น.สำหรับโรงภาพยนตร์และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
ส่วนผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนสามารถนั่งกินอาหารในร้านได้คนเดียว หรือซื้อกลับบ้านหรือใช้บริการส่งอาหารถึงบ้าน
ทั้งนี้ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (เคดีซีเอ) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7,622 คนในวันพุธ หลังจากเพิ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 7,850 คนเมื่อวันอังคาร (14) นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยหนักจากโควิดยังพุ่งทุบสถิติที่ 989 คน โดยในจำนวนนี้ 87% อยู่ในแผนกผู้ป่วยวิกฤตในเขตโซลและปริมณฑล ขณะที่ทั่วประเทศมีอัตราการครองเตียงผู้ป่วยวิกฤตราว 81%
จอง อึน-คยอง ผู้อำนวยการเคดีซีเอเตือนว่า หากยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด จำนวนเคสใหม่รายวันอาจพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 10,000 คนในเดือนหน้า
ส่วนที่อังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน 78,610 คนในวันพุธ (15) ทุบสถิติเดิม 68,053 คนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ตอนที่อังกฤษอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์
จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมากจากหนึ่งสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันพุธที่แล้ว (8 ธ.ค.) เคสผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ที่ 51,342 ราย
เกือบๆ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อใหม่นั้นอยู่ในกรุงลอนดอน โดยเมืองหลวงของอังกฤษมีผลตรวจออกมาเป็นบวก 19,294 คน ขณะที่ทั่วประเทศยืนยันพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 165 ราย
ศาสตราจารย์คริส วิตตี ประธานเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวระหว่างแถลงข่าว เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดจะถูกทุบสถิติอีกหลายต่อหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เขาแนะนำประชาชนควรตระหนักในเรื่องเกี่ยวกับการพบปะทางสังคมในช่วงที่กำลังเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาส
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงข่าวร่วมกับศาสตราจารย์วิตตี ระบุว่าเป็นเรื่อง "สำคัญอย่างยิ่ง" ที่ทุกคนต้องเข้ารับเข็มกระตุ้น
เขาบอกว่า บางพื้นที่ในเวลานี้พบเคสผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 2 วัน และกล่าวว่า "ผมเกรงว่าเราอาจกำลังเห็นเคสผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 10% ทั่วประเทศในแต่ละสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ในลอนดอน"
ศาสตราจารย์วิตตี บอกว่า ประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญโรคระบาด 2 ตัวแยกกัน ตัวหนึ่งคือตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังขับเคลื่อนการแพร่ระบาดรวดเร็วมาก และอีกตัวคือตัวกลายพันธุ์เดลตา
"ผมเกรงว่าเราจำเป็นต้องยอมรับความจริง ว่าจะมีการทำลายสถิติมากมายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่อัตราการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" เขากล่าว
ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโอมืครอนในกว่า 70 ประเทศ และหลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่อาจมีประสิทธิภาพลดลงในการต้านทานการติดเชื้อและการระบาดของตัวกลายพันธุ์น่ากังวลตัวล่าสุดนี้
กระนั้น เมื่อวันพุธ นายแพทย์แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของอเมริกา และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ยืนยันว่า วัคซีนกระตุ้นที่มีอยู่สามารถต้านทานโอมิครอนได้ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาบูสเตอร์ใหม่มาจัดการกับไวรัสสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ
ฟาวซี อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติว่า ความสามารถของภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัสจากวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็มถือว่าต่ำมากในการจัดการกับโอมิครอน อย่างไรก็ตาม หลังฉีดเข็มกระตุ้น 2 สัปดาห์ ความสามารถของภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัสจะเพิ่มขึ้นสูงมากถึงระดับที่รับมือโอมิครอนได้
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)