ระบบพายุรุนแรงที่ทำลายล้างหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นการอาละวาดของทอร์นาโดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ จากคำกล่าวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันเสาร์ (11 ธ.ค.) ขณะที่เจ้าหน้าที่อัปเดตข้อมูลล่าสุด แสดงความกังวลยอดอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อยๆ 100 ราย
"มันเป็นเรื่องน่าเศร้า และเรายังไม่รู้ว่ามีชีวิตมากน้อยแค่ไหนที่ต้องสูญเสีย เช่นเดียวกับขอบเขตความเสียหายเต็มพิกัด" เขาแสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์
เบื้องต้น มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 78 ราย ในนั้นมากกว่า 70 คนอยู่ในเคนทักกี เพียงแห่งเดียว หลังจากเกิดพายุทอร์นาโดหลายสิบลูกโหมกระพือคำรามเล่นงานรัฐต่างๆ 5 แห่ง ก่อความเสียหายทำลายล้างราวกับฉากในภาพยนตร์วันสิ้นโลก
มีความกังวลว่ายอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งสูงกวานี้ "อะไรก็ตามที่มีความจำเป็น ผมจะร้องขอสิ่งนั้น" ไบเดนประกาศระหว่างแถลงข่าว
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่อัปเดตข้อมูลล่าสุด เกรงว่าอาจมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 รายในเคนทักกี หลังจากฝูงทอร์นาโดอาละวาดทำลายล้างบ้านเรือนประชาชนและย่านธุรกิจบนเส้นทางผ่านหนึ่งเป็นระยะทางมากกว่า 320 กิโลเมตร กระตุ้นให้หน่วยกู้ภัยต้องเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากหักพัง
เมื่อถามว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพผู้ภูมิอากาศ (โลกร้อน) ส่งผลกระทบกับพายุใช่หรือไม่ ไบเดนตอบว่า "ผมไม่สามารถพูดได้" และบอกว่าเขาจะขอให้สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลตอบคำถามนี้
"แต่ข้อเท็จจริงคือ เราทุกคนรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างดูรุนแรงหนักหน่วงขึ้นเมื่อสภาพภูมิอากาศร้อนขึ้น ทุกๆ อย่าง" ไบเดนกล่าว "และแน่นอนที่สุดมันส่งผลกระทบบางอย่าง แต่ผมไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรกับคุณได้มากไปกว่านี้"
ไบเดนสัญญาว่าจะลงพื้นที่เดินทางเยี่ยมเยือนภูมิภาคที่ได้รับความเสียหาย แต่บอกว่าเขาต้องการทำให้แน่ใจว่าตนเองจะไม่กลายเป็นอุปสรรคของปฏิบัติการกู้ภัยและฟื้นฟู
พายุหมุนรุนแรง ซึ่งเหล่านักพยากรณ์อากาศระบุว่าเป็นเรื่องผิกปกติในช่วงสภาพอากาศฤดูหนาว ทำลายล้างโรงงานผลิตเทียน สถานีดับเพลิง และสถานีตำรวจในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐเคนทักกี ฉีกบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งพังเป็นชิ้นๆ ในรัฐมิสซูรี และคร่าชีวิตคนงานอย่างน้อยๆ 2 คนในคลังสินค้าแห่งหนึ่งของแอมะซอนในรัฐอิลลินอยส์
แอนดี เบเชียร์ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกีบอกว่าทอร์นาโดครั้งนี้ก่อความเสียหายครั้งเลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐ เขาบอกว่าคนงานราว 40 คนได้รับความช่วยเหลือที่โรงงานผลิตเทียนในเมืองเมย์ฟิลด์ ซึ่งมีราว 110 ชีวิตอยู่ภายในตอนที่มันถูกทอร์นาโดซัดถล่มจนเหลือแต่ซากหักพัง "มันจะน่าอัศจรรย์มากหากพบใครก็ตามที่ยังมีชีวิตอยู่ใต้ซากหักพัง"
"ระดับความเสียหายไม่เหมือนกับสิ่งที่ผมเคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต" เบเชียร์กล่าวระหว่างแถลงข่าว "มันดูเหมือนมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนที่นี่ ในเคนทักกี"
เบเชียร์ เผยว่า สมาชิกกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ 189 คน ถูกส่งเข้าประจำการช่วยเหลือปฏิบัติการฟื้นฟู ขณะที่ความพยายามกู้ภัยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่เมืองเมย์ฟิลด์ ซึ่งมีประชากรราว 10,000 คน ในมุมทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ บรรจบกับรัฐอิลลินอยส์ มิสซูรีและอาร์คันซอ
วิดีโอและภาพถ่ายที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์พบเห็นอาคารต่างๆ ในย่านกลางเมืองเมย์ฟิลด์พังราบเป็นหน้ากลอง รถหลายคันที่จอดอยู่ถูกฝังอยู่ใต้ซากหักพัง ยอดแหลมอาคารเก่าแก่ของสำนักงานศาลเกรฟส์ เคาน์ตี พังถล่มลงมา และโบสถ์เฟิร์สต์ ยูไนเต็ด เมโทรดิสต์ พังถล่มบางส่วน
เฌเรมี เครียสัน หัวหน้วหน่วยดับเพลิงของเมย์ฟิลด์ ซึ่งสถานีของเขาถูกทำลายโดยสิ้นเชิง ระบุว่า "โรงงานผลิตเทียนพังเสียหายย่อยยับ เหลือแต่กองเศษเหล็กและเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับสอดส่องค้นหาเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่"
แหล่งกำเนิดของฝูงทอร์นาโดทำลายล้างครั้งนี้มีต้นกำเนิดจากพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อคืนที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงพายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ที่ก่อตัวทางตะวันออกเฉียงเหนือของอาร์คันซอ เคลื่อนตัวจากอาร์คันซอและมิสซูรี เข้าสู่เทนเนสซีและเคนทักกี
วิคเตอร์ เกนซินิ ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์น อิลลินอยส์ ระบุว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติและความชื้น ก่อสภาพแวดล้อมสำหรับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) เช่นนี้ในช่วงเวลานี้ของปี
"นี่คือครั้งประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ใช่เหตุการณ์แห่งยุค" เกนซินิ กล่าว "ในเดือนธัวาคม ปกติแล้วเราจะนึกถึงพายุหิมะ ไม่ใช่ทอร์นาโด และแน่นอนว่าไม่ใช่ทอร์นาโดอย่างเมื่อคืนนี้"
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันเสาร์ (11 ธ.ค.) สั่งการให้ระดมทรัพยากรของรัฐบาลกลางพุ่งไปที่สถานที่ต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด
มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บสาหัส 5 คน เมื่อทอร์นาโดลูกหนึ่งฉีกบ้านพักคนชรา 90 เตียงแห่งหนึ่งเป็นชิ้นๆ ในเมืองโมเนตต์ รัฐอาร์คันซอ ชุมชนเล็กๆ ใกล้เขตแดนรัฐมิสซูรี
ห่างจากนั้นไม่กี่กิโลเมตร ในเมืองลีชวิลล์ รัฐอาร์คันซอ ทอร์นาโดทำลายล้างห้างดอลลาร์ เจเนรัล สาขาหนึ่ง คร่าชีวิตไป 1 ราย และก่อความเสียหายแก่พื้นที่ส่วนใหญ่ย่านใจกลางเมือง ตามการเปิดเผยของชัค บราวน์ จากสำนักงานนายอำเภอมิสซิสซิปปี เคาน์ตี ในอาร์คันซอร์ "เสียงของมันเหมือนรถไฟขบวนหนึ่งกำลังคำรามเคลื่อนไปทั่วเมือง"
ในอิลลินอยส์ มีคนงานอย่างน้อย 2 คนเสียชีวิต หลังคลังสินค้าหลังหนึ่งของแอมะซอน ดอทคอม พังถล่มในเมืองเอ็ดเวิร์ดส์วิลล์ หลังคาถูกพายุซัดปลิวหลุดหายไปเหลือแต่โครงเหล็กของอาคาร
ที่เทนเนสซี ดีน เฟลเนอร์ โฆษกของสำนักงานบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐ ระบุว่า สภาพอากาศรุนแรงปลิดชีพชาวบ้านอย่างน้อย 3 ราย ในนั้น 2 คนเสียชีวิตที่เลค เคาน์ตี และอีกคนในโอเบียน เคาน์ตี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีแวดล้อมของการเสียชีวิต
ไม่นานหลังเที่ยงคืน สภาพอากาศรุนแรงยังเป็นเหตุให้ขบวนรถไฟสินค้าของ CSX Corp ทางตะวันตกของเคนทักกี แต่ไม่มีพนักงานคนใดได้รับบาดเจ็บ
ศูนย์พยากรณ์อายุของสำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ได้รับรายงานพายุทอร์นาโดทั้งสิ้น 36 ลูกที่ลงแตะพื้นในรัฐอิลลินอยส์ เคนทักกี เทนเนสซี มิสซูรี อาร์คันซอ และมิสซิสซิปปี
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)