รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาแสดงความไม่พอใจกรณีเรือยามฝั่งจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่เรือขนเสบียงสำหรับนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ ที่ประจำการอยู่ในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ พร้อมทั้งเตือนให้ปักกิ่ง “ถอยออกไป” จากพื้นที่ดังกล่าว
ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ระบุวันนี้ (18 พ.ย.) ว่า ตนได้เชิญเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบเพื่อประท้วงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (16) ในขณะที่เรือฟิลิปปินส์ 2 ลำกำลังเดินทางไปยังสันทราย Second Thomas Shoal บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์
“โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่เรือของเราก็จำเป็นต้องระงับภารกิจในการส่งเสบียง” ล็อกซิน แถลงผ่านทวิตเตอร์ พร้อมชี้ว่า การกระทำของฝ่ายจีนนั้น “ผิดกฎหมาย”
เขาย้ำด้วยว่า เรือฟิลิปปินส์ทั้ง 2 ลำเป็นเรือสาธารณะ และเป็นพาหนะของพลเรือน (civilian vessels) ซึ่งเข้าข่ายได้รับการปกป้องตามข้อตกลงกลาโหมระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ
“จีนไม่มีสิทธิที่จะบังคับใช้กฎหมายทั้งในและโดยรอบน่านน้ำแถบนี้” ล็อกซิน กล่าว “พวกเขาควรระวัง และถอยออกไปเสีย”
สถานการณ์ในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ทวีความร้อนระอุขึ้นในปีนี้ หลังจากที่จีนมีการส่งเรือหลายร้อยลำเข้าไปยังแนวปะการังวิตซัน (Whitsun Reef) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์เช่นกัน
จีนอ้างความเป็นเจ้าของน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทกับอีกหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และเวียดนาม
ท้องทะเลแถบนี้ยังเป็นแหล่งปลาชุม และเชื่อกันว่ามีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่อย่างมหาศาล
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เคยมีคำตัดสินเมื่อปี 2016 ว่า จีนไม่สามารถอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเจ้าของทรัพยากรและน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ทว่า รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่แรก และไม่ยอมรับคำพิพากษาด้วย
ปัจจุบันจีนได้เข้าควบคุมแนวปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ รวมถึงสันทรายสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ซึ่งปักกิ่งยึดไปได้เมื่อปี 2012 โดยสันทรายแห่งนี้อยู่ห่างจากเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเพียงราวๆ 240 กิโลเมตร
จีนยังได้ถมทะเลจนกลายเป็นหมู่เกาะเทียม รวมถึงเข้าไปสร้างฐานทัพ ท่าเรือ และรันเวย์สำหรับเครื่องบินขึ้น-ลงไว้ตามเกาะแก่งเหล่านี้เพื่อยืนยันในกรรมสิทธิ์ของตน
ที่มา : เอเอฟพี