สหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนถึงเหล่าพันธมิตรในยุโรป ว่า บางทีรัสเซียอาจกำลังมีแผนยกพลรุกรานยูเครน ประเทศเพื่อนบ้าน หลังพบมอสโกระดมกองกำลังตามแนวชายแดนทางตะวันตกของประเทศ ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่งของอเมริกาที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.)
บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและเพนตากอน เคยบอกว่าพวกเขากำลังจับตาใกล้ชิดต่อการเสริมกำลังทหารของรัสเซีย แต่รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า แท้จริงแล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดำเนินการมากกว่านั้นและได้ส่งเสียงเตือนอย่างเป็นทางการถึงพันธมิตรอียูเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะปฏิบัติการรุกรานทางทหาร
ในรายงานข่าวที่อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า ข้อมูลนี้อยู่บนพื้นฐานการประเมินของสหรัฐฯ และยังไม่ได้แบ่งปันกับยุโรป ในขณะที่การตอบโต้ร่วมกันใดๆ จำเป็นต้องมีการพิจารณาจนตกผลึกเสียก่อน ผ่านการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง
"เรากังวลต่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวผิดปกติของกองทัพรัสเซียใกล้ยูเครน" บลิงเคนกล่าวเมื่อวันพุธ (11 พ.ย.) "เรากำลังจับตาภูมิภาคนี้อย่างใกล้ชิด อย่างที่เราทำมาตลอด ขณะเดียวกัน เราจะยังคงปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและคู่หูของเราในประเด็นนี้ และจุดยืนของเราชัดเจน พฤติกรรมก้าวร้าวและขยายสถานการณ์ความตึงเครียดใดๆ จะก่อความกังวลใหญ่หลวงแก่สหรัฐฯ"
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อช่วงต้นเดือน กระทรวงกลาโหมยูเครนระบุว่า รัสเซียยังคงเดินหน้าเสริมกำลังทหารใกล้ชายแดนของพวกเขา และมีทหารรัสเซียถูกส่งเข้าประจำการแล้วกว่า 90,000 นาย
เพนตากอนเรียกร้องในวันพุธ (11 พ.ย.) ขอให้มอสโกแสดงความโปร่งใสต่อประชาคมนานาชาติ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและเจตนาของพวกเขาในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางรัสเซียยืนกรานว่าความเคลื่อนไหวทางทหารใดๆ ที่อยู่ในอาณาเขตของพวกเขา เป็นกิจการภายในของรัสเซีย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเครมลินคล้ายกับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งหนนั้นประมาณการว่ามีทหารรัสเซียถูกส่งเข้าประจำการใกล้ชายแดนของยูเครนและภายในแหลมไครเมียราวๆ 100,000 นาย เช่นเดียวกับยุทโธปกรณ์ทางทหารอีกจำนวนมาก
รัสเซียยึดไครเมียมาจากยูเครนในปี 2014 และยังคงมีอำนาจโดยพฤตินัยเหนือดินแดนดังกล่าว ในปีเดียวกันนั้น มอสโกยังเริ่มสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ต่อสู้กับรัฐบาลกลาง นโยบายที่คงอยู่มานานกว่า 7 ปีจนถึงปัจจุบัน
การเสริมกำลังคราวนั้นก่อความกังวลว่ารัสเซียใกล้ยกพลรุกรานยูเครนเต็มที แต่สุดท้ายแล้วมอสโกก็ค่อยๆ ลดกำลังพลเริ่มในเดือนเมษายน
(ที่มา : เอพี/บลูมเบิร์ก)