พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของญี่ปุ่นคว้าชัยในศึกเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ (31 ต.ค.) โดยครองเสียงข้างมากในสภาได้สำเร็จตามที่คาดหวัง ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ สามารถเดินหน้าภารกิจควบคุมโรคระบาดโควิด-19 รวมไปถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย
แม้จะได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 แต่แอลดีพียังคงรั้งสถานะพรรคการเมืองเดียวที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น ถือเป็นชัยชนะที่สวยงามสำหรับ คิชิดะ ที่เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ หมาดๆ เมื่อ 1 เดือนก่อน
ผลเลือกตั้งที่ออกมายังสวนทางกับเอ็กซิตโพลที่คาดว่า กระแสวิจารณ์เรื่องการจัดการโควิด-19 ผิดพลาดอาจจะทำให้พรรคแอลดีพีสูญเสียคะแนนนิยม และต้องพึ่ง “พรรคโคมิอิโตะ” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อที่จะครองเสียงข้างมากในสภา
คิชิดะ เคยออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า พรรคแอลดีพีต้องการได้อย่างน้อย 233 ที่นั่งหรือ “เกินครึ่ง” จากทั้งหมด 465 ที่นั่งในสภาล่าง ทว่าท้ายที่สุดปรากฏว่าแอลดีพีสามารถกวาด ส.ส. ได้ถึง 261 ที่นั่ง ซึ่งแม้จะลดลงกว่าตัวเลข 276 ในศึกเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ถือว่าครองเสียงข้างมากอย่างมีเสถียรภาพ และหากรวมกับ ส.ส. ที่พรรคโคเมอิโตะได้ก็จะกลายเป็น 293 ที่นั่ง
โทเบียส แฮร์ริส นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกัน (Center for American Progress) ระบุว่า “แนวโน้มในภาพรวมบ่งบอกถึงความมีเสถียรภาพ พรรคแอลดีพีสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่พวกเขาจำเป็นต้องทำได้แล้ว”
“เราน่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายหลังจากนี้”
กระแสตอบรับผลเลือกตั้งส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิในตลาดหุ้นโตเกียวเปิดพุ่งขึ้นทันที 2.38% หลังเริ่มต้นการซื้อขายเช้าวันนี้ (1 พ.ย.)
คิชิดะ ยืนยันว่า รัฐบาลของเขาจะพยายามดันร่างงบประมาณส่วนเสริมผ่านสภาให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น คนที่ตกงาน หรือนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เป็นต้น
ด้วยบุคลิกที่นุ่มนวลและไม่ทำตัวเป็นที่สนใจมากนักทำให้ คิชิดะ ถูกมองว่าไม่ค่อยมีเสน่ห์ความเป็นผู้นำ หรือ ‘charisma’ สักเท่าไหร่ แต่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะช่วยลบคำสบประมาทต่อผู้นำญี่ปุ่นรายนี้ได้มากพอสมควร
แนวทางการบริหารของ คิชิดะ ยังคงอิงกับนโยบายดั้งเดิมของกลุ่มฝ่ายขวาในพรรคแอลดีพี ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดงบกลาโหมเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับศักยภาพของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ก็ชูวิสัยทัศน์ “ทุนนิยมใหม่” (new capitalism) ที่เน้นสร้างความมั่งคั่ง และแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
ที่มา : รอยเตอร์, CNN